ทอพ.พบกับดักมนุษย์เงินเดือน เสี่ยงไม่พอใช้ยามชรา เหตุรายจ่ายสูงกว่า 8 พันบ./เดือน
คาดอีก 4 ปีไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ติด 1 ใน 3 ประเทศอาเซียน ประธานทอพ.ชี้ โจทย์ใหญ่แรงงานไทย 63% ขาดหลักประกันรายได้ยามเกษียณ ยันมีผลต่อการใช้ชีวิตหากไม่มีการออมสมทบ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุมวิชาการที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) โดยภายในงานมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และกองทุนสนับสนุนเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งถึงสังคมสูงวัย โดยได้แนะนำผู้สูงอายุอย่าหยุดทำงาน เพราะร่างกายจะหยุดไปด้วย เหมือนรถจอดแล้วสตาร์ทไม่ติด พร้อมกันนี้ให้ยึดหลักธรรมชาติ ธรรมดา และมีสติอยู่เสมอ ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธาน ทอพ. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 18% อันดับ 2 คือไทย มีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 16% และอันดับ 3 เวียดนาม อยู่ที่ 10%
"คาดว่าอีก 4 ปีข้างหน้า ไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ 20% และส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงจะหนักขึ้น เป็นผู้สูงอายุ 1 คนต่อวัยแรงงาน 3.2 คน"
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงช่องว่างในการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
"โจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือ แรงงานไทย 63% ที่ไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ และยังพบกับดักมนุษย์เงินเดือน โดยรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนสูงกว่าเงินสนับสนุนของรัฐพื้นฐานจากประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อยู่ที่ 8,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหากไม่มีการออมสมทบ"
ด้านพญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงสังคมผู้สูงอายุไทย พบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุวัยต้น คืออายุระหว่าง 60-69 ปี กว่าร้อยละ 60 ขณะที่แหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุมาจาก บุตรหลาน จากการทำงาน และ "เบี้ยยังชีพ" เป็นหลัก
"เหตุผลหลักที่ผู้สูงอายุยังทำงานอยู่ คือต้องการมีรายได้ สุขภาพแข็งแรง และมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว และอยู่ลำพังกับคู่สมรส เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ก็พบว่า ระบบสุขภาพของไทยก็ยังมีข้อจำกัด ทำให้ผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง" เลขาธิการสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าว