เวทีตำบล แฉนโยบายรัฐทำท้องถิ่นแย่ ชาวบ้านขอเลือกตัวชี้วัดการพัฒนาเอง
"หนองสาหร่าย”เน้นตำบลพอเพียง-ยึดคนเป็นศูนย์กลาง-ผุดหลักสูตรท้องถิ่น "บ้านเลือก" ใช้วัฒนธรรมสู่ท้องถิ่นเข้มแข็ง "คลองตัน" ตั้งกองทุนสวัสดิการปลดหนี้ ไม่พึ่งพารัฐ
วันที่ 15 ก.พ.55 ที่บ้านสวนทิพย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดสัมมนาเสริมพลังเพื่อการสร้างเครือข่ายและขยายผลพื้นที่ตำบล จัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาท้องถิ่น มีตัวแทนจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานีและกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโดยนำเสนอพื้นที่ตัวอย่างคือ ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ต.บ้านเลือก จ.ราชบุรี และต.คลองตัน จ.สมุทรสาคร
ซึ่งการนำเสนอความสำเร็จจากการทำงานสร้างสุขให้ชุมชนตัวแทนตำบลหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ศิวโรฒ จิตนิยม ประธานธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย กล่าวว่า เดิมตำบลหนองสาหร่ายเป็นพื้นที่ชนบทที่รองรับการพัฒนาจากภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาวิธีการพัฒนาของภาครัฐทำให้เกิดผลกระทบ ความสุขชาวบ้านเริ่มหายไปจึงนำมาซึ่งการกำหนดให้ดัชนีความสุขเป็นตัวเป้าหมาย เป็นตัวชี้วัด โดยยึดแนวทางการมีส่วนร่วม การส่งเสริมอาชีพ การทำให้ชุมชนมีสวัสดิการรวมถึงการทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวดี สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งจากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้เทศบาลตำบลหนองสาหร่ายนำแนวคิดและวิธีการบรรจุลงแผนพัฒนาท้องถิ่น สร้างทำตำบลพอเพียงพึ่งตนเอง
“การปฏิรูปการศึกษาของไทยยิ่งปฏิรูปยิ่งทำให้คนโง่ ชาวบ้านมองเห็นปัญหาจึงมาคุยกัน โดยมีการทำหลักสูตรท้องถิ่น คือหลักสูตรบันทึกความดี หลักสูตรวัฒนธรรมชุมชน หลักสูตรการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ผลิตพลังงานทดแทน แก้หนี้นอกระบบ ทำกองทุนชุมชน คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าคนหนองสาหร่ายจะสามารถปลอดหนี้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ” ศิวโรฒ กล่าว
ด้าน วิฑูรย์ ศรีเกษม ผู้นำชุมชน ต.บ้านเลือก จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตำบลบ้านเลือกส่วนใหญ่เป็นคนลาวเวียงที่มีประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น การทำงานเกิดจากชาวบ้านในพื้นที่มองเห็นปัญหาการคุกคามจากวัฒนธรรมภายนอก มีการร่วมคิด ร่วมกันทำแผนชุมชน สืบสานทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง ชุมชนมีความสามัคคี มีรายได้ชีวิตที่มั่นคง ชุมชนปลอดยาเสพติด และอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
“การเมืองท้องถิ่นทำให้คนในชุมชนแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย บ้านเลือกใช้ประเพณีวัฒนธรรมลาวเวียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวเป็นเครื่องมือ มีการส่งเสริมให้มีการแต่งกายชุดลาวเวียงในหมู่เยาวชน เผยแพร่อาหารลาวเวียงโดยการทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น พิมพ์หนังสือเผยแพร่องค์ความรู้ ส่งเสริมให้มีการพูดภาษาลาวเวียงมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อเรารู้จักตัวเองชุมชนก็จะมีความเข้มแข็ง” ผู้นำชุมชนตำบลบ้านเลือกกล่าว
ขณะที่ นวลฉวี บุญจันทร์ ตัวแทนตำบลคลองตัน จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การมีเป้าหมายเป็นตัวชี้วัด ในการพัฒนาของชุมชนเป็นเรื่องที่ดี ตำบลคลองตันมีการปลดหนี้ให้คนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย องค์กรมีความเข้มแข็ง ชาวบ้านเป็นหนึ่งเดียว มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกทั้งร่วมกันฟื้นฟูและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
“การทำตัวชี้วัดไม่ได้ยึดหลักอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องทำตามความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งท้องถิ่นต้องเข้ามาร่วมมือ ที่ผ่านมาทุกนโยบายจากภาครัฐ เหมือนจะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ท้ายที่สุดชุมชนมีแต่แย่ลง เพราะรัฐไม่เข้าใจในความเป็นชุมชนและไม่รู้ถึงความต้องการชาวบ้าน อนาคตตำบลคลองตันจะมีการทำโรงสีชุมชน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และตั้งกองทุนสวัสดิการ นำไปสู่ความภาคภูมิใจของเรา” นวลฉวี บุญจันทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวว่า ตัวชี้วัดการพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชุมชนสามารถนำไปทำได้และทำแล้วได้ผลดีมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ภายใต้การมีคุณธรรมจริยธรรม นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในชุมชนทั้งความสุขทางกาย ความสุขทางปัญญา ความสุขทางสังคม และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“การพัฒนาต้องมาจากฐานหรือข้างล่างหรือชุมชน การทำหน้าที่ของชุมชนหนึ่งจะนำไปสู่แรงบันดาลใจของอีกชุมชนหนึ่ง เพราะแรงบันดาลใจจะนำไปสู่กระบวนการทำงานที่ดีงามมากมาย” ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าว