คอร์รัปชันในเกมกับชีวิตจริง
ในโลกความเป็นจริงแม้คุณจะตั้งใจดี แต่ถ้าคุณจะทำความดี เหมือนมีต้นทุน ไม่น้อยกว่าการตัดสินใจทำความผิด ยกตัวอย่างเช่น การร้องเรียน ฟ้องร้องกลายเป็นมีต้นทุน
“คอร์รัป: หยุดยั้งหรือปล่อยไป” เกมแนว Visual Novel เกมแรกของไทยที่มีเนื้อเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน
เนื้อหาของเกมนี้พัฒนาต่อยอด และอ้างอิงมาจากหนังสือเมนูคอร์รัปชัน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้เปิดให้เยาวชนอายุ 13 - 25 ปี เพราะเป็นวัยที่จะมีบทบาทสำคัญกับสังคมในอนาคต ดาวน์โหลดเล่นได้ฟรีทาง Play Store ในระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ และ App Store ในระบบปฎิบัติการ iOS
เกมนี้ ก่อนเล่นระบบจะมีการเก็บข้อมูลเพศ และอายุ ระหว่างเกม มีการให้ตัดสินใจเพื่อเดินเรื่องเกือบ 40 ครั้ง และต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น 6 ครั้ง
- 3 ครั้งเป็นการตัดสินใจว่า จะจ่าย/ไม่จ่ายสินบน
- 3 ครั้งเป็นการตัดสินใจว่า จะช่วยเหลือคนอื่นในทางที่ผิดหรือไม่ เพื่อแยกการโกงแบบการใช้เงินและการช่วยเหลือ
และไม่ว่าจะตัดสินใจทางเลือกใด สามารถเล่นเกมต่อได้โดยไม่มีถูก/ผิด รวมไปถึงมีการเก็บเวลาที่คนเล่นเกมตัดสินใจด้วย
อีกทั้งหลังเกม ยังมีการถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอีกด้วย
นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด บอกว่า หากใครได้ลองเล่นเกมคอร์รัปดู จะพบว่า การหยุดยั้งไม่ให้เกิดการโกงหรือคอร์รัปชันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะบางครั้งการตัดสินใจต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของตัวเองหรือการหยุดยั้งการคอร์รัปชันโดยการทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นการยาก เกมนี้จะทำให้ผู้เล่นตระหนักว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในชีวิตจริงจะเลือก “หยุดยั้งการคอร์รัปชัน หรือ ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันขึ้นและฉุกคิดถึงผลกระทบของการตัดสินใจของตนด้วย
ขณะที่ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงการวัดพฤติกรรมของคนเล่มเกม ซึ่งมีข้อมูลการเล่นเกมกว่า 3.4 หมื่นครั้ง และจากการเก็บข้อมูล พบว่า
- 24.73% ของคนเล่นเกมมีความน่าจะเป็นในการตัดสินใจจ่ายสินบน
- 37.50% คนเล่นเกมมีความน่าจะเป็นในการตัดสินใจช่วยเพื่อนในทางที่ผิด
เมื่อมาดูระยะเวลาการตัดสินใจของผู้เล่นเกม สถานการณ์ทางเลือกว่าจะหยุดยั้งหรือปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชัน ผู้เล่นมีช่วงเวลาการขบคิดหรือตัดสินใจทางเลือกนั้นมากน้อยเพียงใด
ผศ.ดร.ธานี ชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจ คือเรื่องของเวลาในการตัดสินใจจ่ายสินบน 6.8 วินาที เทียบการเวลาที่ใช้ในการตัดสินใจไม่จ่ายสินบน 6.39 วินาที แปลความได้ก็คือ ไม่จ่าย และหากให้จ่ายสินบน คนจะคิดนาน แต่เมื่อตัดสินใจจะช่วยเพื่อน แม้จะเป็นแนวทางที่ผิด คนจะใช้เวลาที่ใช้ในการตัดสินใจช่วย 5.29 วินาที แต่ถ้าจะไม่ช่วย เวลาที่ใช้ในการตัดสินใจไม่ช่วย 6.34 วินาที
"คือ ต่อให้ช่วยเพื่อนในทางที่ผิด เขาก็จะตัดสินใจช่วยเพื่อน หากไม่ช่วยเขาจะคิดนาน"
จากพฤติกรรมและทัศนคติของผู้เล่นเกม ผศ.ดร.ธานี บอกว่า นำสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีความยากง่ายต่างกัน "หากให้จ่ายสินบนเขาจะคิดเยอะ แต่หากไม่ให้ช่วยเพื่อนในทางที่ผิด คิดเยอะ คิดนานกว่า เพราะเขารู้สึกการช่วยเพื่อนเป็นสิ่งจำเป็นนั่นเอง”
สำหรับคำถามท้ายเกม มีการถามต่อด้วย
"เมื่อคุณเก็บโพยที่เพื่อนใช้ลออกข้อสอบได้ และรู้ว่า เพื่อนในห้องใช้โกงข้อสอบ ในความเป็นจริงแล้ว คุณจะทำอย่างไร?
ก. เอาหลักฐานไปให้ครูผู้สอน
ข. บอกเพื่อนว่าคราวหลังอย่าทำอีก
ค. เขียนบัตรสนเท่ห์ พร้อมส่งหลักฐาน
ง. โพสต์ Pantip โดยยืม account เพื่อน
จ. เก็บไว้ต่อรองกับเพื่อนในอนาคต
ฉ. ทำเฉยๆ ไว้ เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา
ประเด็นที่น่าสนใจ
ในโลกความเป็นจริงพบว่า 34% ตัดสินใจเอาหลักฐานไปให้ครูผู้สอน ซึ่งถือเป็นข้อเดียวของการตัดสินใจที่ถูกที่สุด รองลงมาบอกเพื่อนว่า คราวหลังอย่าทำอีก
แต่ในโลกของเกม พบว่า
- 75% ไม่ยอมจ่ายสินบน
- 60% ไม่ยอมช่วยเพื่อนในทางที่ผิด
- มีคนจำนวนมากที่ไม่อยากทำสิ่งที่ผิด
“ค่าของโลกความเป็นจริง กับค่าของโลกในเกมต่างกัน อย่างน้อยทำให้เราเห็นว่า ที่คนคาดว่า ในเกมจะเลวร้ายกว่าความจริงมากๆ เพราะอยู่ในเกมไม่มีใครตรวจสอบ กลับดูดีกว่า ในความเป็นจริง”ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ ก่อนชี้ให้เห็นว่า ในโลกความเป็นจริงแม้คุณจะตั้งใจดี แต่ถ้าคุณจะทำความดี เหมือนมีต้นทุน ไม่น้อยกว่าการตัดสินใจทำความผิด ยกตัวอย่างเช่น การร้องเรียน ฟ้องร้องกลายเป็นมีต้นทุน
ฉะนั้นกลไกทางสังคม อาจมีปัญหาอะไรบางอย่าง ? ผศ.ดร.ธานี ตั้งไว้เป็นคำถาม
และนอกจากนี้ เรื่องเวลาการตัดสินใจที่วัดเป็นวินาที ยังพบว่า เอาหลักฐานไปให้ครูผู้สอน ในเกมเป็นการตัดสินใจที่ใช้เวลาน้อยที่สุด ประมาณ 28 วินาที ขณะที่ในโลกของความเป็นจริง กลับใช้เวลาตัดสินใจนานมาก คนคิดเยอะแม้จะมีความตั้งใจทำดีก็ตาม
ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนผู้ตอบตามอายุ พบว่า
- ยิ่งอายุน้อยลง คืออายุต่ำกว่า 15 ปี ยิ่งตัดสินใจเอาหลักฐานไปให้ครูผู้สอนมากขึ้น
- ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งตัดสินใจบอกเพื่อนว่า คราวหลังอย่าทำอีกมากขึ้น
โดยสรุป วิเคราะห์พฤติกรรมและสิ่งที่ได้จากเกม ผศ.ดร.ธานี บอกว่า คนยังมีความตั้งใจดี มีความพร้อม แต่กลไกในโลกความเป็นจริง ทำให้ต้องคิดเยอะ เพราะต้นทุนทำความผิดมี ขณะเดียวกันต้นทุนทำความดีก็มีเช่นกัน
"โจทย์คือเราจะสร้างกลไกอย่างไรให้เขาทำสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีต้นทุน การไม่มีต้นทุนการทำดี เท่ากับ ง่าย รวมทั้งการจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก็ต้องมองด้วยว่า กลไกที่จะสร้างต้องเกี่ยวกับชีวิตของเขาเอง ไม่ไปโจมตีสังคมที่เป็นปัจเจกดำรงอยู่ เมื่อเขาเห็นว่า "เพื่อน" สำคัญ หากไปโจมตีสังคมที่เขาดำรงอยู่จะเป็นการไปเพิ่มต้นทุนชีวิตเขา สุดท้ายทำอย่างไรให้การทำดีไม่ต้องคิดเยอะ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: