- Home
- Isranews
- ตะกร้าข่าว
- เปิดตัว “เกมออนไลน์คอร์รัป หยุดยั้งหรือปล่อยไป”
เปิดตัว “เกมออนไลน์คอร์รัป หยุดยั้งหรือปล่อยไป”
“คอร์รัป: หยุดยั้งหรือปล่อยไป” เกมแนว Visual Novel เกมแรกของไทยที่มีเนื้อเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน ตั้งเป้าหมายสร้างความตระหนักและเรียนรู้ถึงทางเลือกเมื่อเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันกับกลุ่มเยาวชน 13-25 ปี พัฒนาเกมโดย บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด เนื้อหาเกมพัฒนาต่อยอดและอ้างอิงจากหนังสือเมนูคอร์รัปชัน ทีดีอาร์ไอ เตรียมดาวน์โหลดเล่นได้ฟรีทาง Play Store ได้แล้ววันนี้
“คอร์รัป: หยุดยั้งหรือปล่อยไป” เกมแนว Visual Novel เกมแรกของไทยที่มีเนื้อเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน ตั้งเป้าหมายสร้างความตระหนักและเรียนรู้ถึงทางเลือกเมื่อเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันกับกลุ่มเยาวชน 13-25 ปี โดยให้ผู้เล่นเข้าถึงต้นเหตุและผลกระทบของการทุจริต ผู้เล่นจะติดตาม เรียนรู้ ตัดสินใจเลือกไปกับตัวละครหลัก และเผชิญกับผลกระทบของทางเลือกที่ตนเลือก พัฒนาเกมโดย บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด เนื้อหาเกมพัฒนาต่อยอดและอ้างอิงจากหนังสือเมนูคอร์รัปชัน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เตรียมดาวน์โหลดเล่นได้ฟรีทาง Play Store ในระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์และ App Store ในระบบปฎิบัติการ iOS พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มีนาคม นี้
ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหาร้ายแรงต่อเนื่องยาวนาน จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2559 (Corruption Perceptions Index 2016) ที่จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งหนึ่งในวิธีการป้องกันการคอร์รัปชันคือการให้ความรู้และสร้างความตระหนักต่อผลกระทบของคอรัรัปชันทั้งต่อตนเองและสังคม
บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด เล็งเห็นถึงวิธีการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันโดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี พัฒนาเกม “คอร์รัป: หยุดยั้งหรือปล่อยไป” เพื่อเสริมสร้างการตระหนักและเรียนรู้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเยาวชนอายุ 13 - 25 ปี เพราะเป็นวัยที่จะมีบทบาทสำคัญกับสังคมในอนาคต
นายวรัญญู ทองเกิด นักออกแบบเกม บริษัท โอเพ่นดรีม เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการทำเกมนี้ว่า “จำได้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ว่า ผู้บริหารประเทศพยายามบอกว่าเมืองไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในเร็ววัน แต่ด้วยวัฒนธรรมของไทยที่ละเลยการจัดการปัญหาการคอร์รัปชันตั้งแต่ในระดับเล็กๆ เช่น พฤติกรรมการให้สินบนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการ การหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี เริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานปกติของสังคมและพฤติกรรมที่รุนแรงกว่านั้น ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมในที่สุด แนวคิดของเราคือ สร้างเกมเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเข้าใจถึงผลกระทบของการคอร์รัปชัน เมื่อมีการละเลยให้เกิดการโกงเล็กๆน้อยๆ หรือเพิกเฉยต่อปัญหา ก็อาจทำให้กลายเป็นการคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่ได้
นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด เสริมว่า “ทีมสร้างสรรค์เกมได้เลือกรูปแบบเกม Visual Novel ในแนวสืบสวนสอบสวน ความสนุกของเกมนี้คือ เนื้อเรื่องที่เข้มข้นถึง 5 ตอน ที่ผู้เล่นจะได้โลดแล่นไปกับเนื้อหาเหมือนการอ่านนิยาย ที่พัฒนาต่อยอดจากหนังสือ”เมนูคอร์รัปชัน” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักวาดการ์ตูน นักพัฒนาบทหนังชื่อดัง ผู้เขียนบท “13 เกมสยอง” และ “Body ศพ 19” ช่วยพัฒนาพล็อตเรื่องให้มีความสนุกสนานและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการออกแบบเกมให้น่าติดตามในช่วงของการสืบสวน เพื่อให้ผู้เล่นได้คิด วิเคราะห์และตัดสินใจ เลือกเส้นทางในเกมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขั้นตอนการคอร์รัปชัน ซึ่งหลังจากจบตอนจะมีผลสรุปการเรียนรู้และแสดงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเส้นทางที่ผู้เล่นเลือก รวมถึงการแสดงผลลัพธ์ค่าคะแนนของผู้เล่นท่านอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Social Gaming
“หากได้ลองเล่นเกมคอร์รัปดู จะพบว่าการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการโกงหรือคอร์รัปชันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะบางครั้งการตัดสินใจต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของตัวเองหรือการหยุดยั้งการคอร์รัปชันโดยการทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นการยาก เกมนี้จะทำให้ผู้เล่นตระหนักว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในชีวิตจริงจะเลือก “หยุดยั้งการคอร์รัปชัน หรือ ปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชันขึ้นและฉุกคิดถึงผลกระทบของการตัดสินใจของตนด้วย”
ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรมเวิร์คชอบระหว่างภาคีภาคเยาวชนและภาคการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการสื่อสารและขยายผลเกมในวงกว้าง ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ได้รับการตอบรับจากเพื่อนภาคีกว่า 10 องค์กร อาทิ สมัชชาสยามอารยะ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) บริษัทสุรเสกข์ จำกัด (Toolmorrow) สุจริตไทย โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย / มูลนิธิธรรมดี ในการร่วมขยายผลการสื่อสารเกมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้ให้ความเห็นว่า การวัดพฤติกรรมของคนเล่มเกมนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่นการวัดที่ “ผลลัพธ์” หลังจากการเล่นเกมว่ามีพฤติกรรมหรือทัศนคติต่อการคอรัรัปชันก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างไร หรือการวัดจาก “กระบวนการเรียนรู้” ระหว่างการเล่น เช่น ระยะเวลาการตัดสินใจของผู้เล่นเมื่อพบกับสถานการณ์ทางเลือกว่าจะหยุดยั้งหรือปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชัน ผู้เล่นมีช่วงเวลาการขบคิดหรือตัดสินใจทางเลือกนั้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากข้อมูลเหล่านี้มีการรวบรวมจะสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้เล่นได้ และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ต่อยอดการทำดัชนีที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมในเกม หรือการสร้างเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมการคอร์รัปชันต่อไปในอนาคต นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เกมสามารถทำหน้าที่ที่มากกว่าสร้างความตระหนักและเรียนรู้ถึงปัญหาคอร์รัปชันกับกลุ่มเยาวชนเป้าหมายแล้ว เพื่อนภาคียังให้ความสนใจให้เกมได้เปิดพื้นที่การสื่อสารกับเยาวชนกับกิจกรรมที่ภาคีกำลังจะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ อีกด้วยเพื่อให้เกิดการขยายผลกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง