มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยพบเนื้อหมู 13% มียาปฏิชีวนะตกค้าง จาก 2 ตลาดสดกลางกรุง
เปิดผลสำรวจเนื้อหมูปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในท้องตลาด พบเนื้อหมู 13% มีตกค้าง จาก 2 ตลาดสดกลางเมืองกรุง เตรียมส่งข้อมูลให้อย.-กรมปศุสัตว์-เจ้าของตลาดเร่งดำเนินการ ด้านปลัดสธ.ย้ำ ประกาศห้ามใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ ตั้งเป้าลดการใช้ยาปฏิชีวนะให้ได้ 30% ในคน 20% ลดเชื้อดื้อยา 50% ภายใน 4 ปี
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสัมมนาผู้บริโภค และรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องเชื้อดื้อยาและเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาระดับโลก เพราะปัจจุบันไม่มียาปฏิชีวนะที่ออกใหม่เพื่อรักษาเชื้อดื้อยาได้ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-64 โดยตั้งเป้าหมายลดการป่วยเชื้อดื้อยาให้ได้ 50% ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียในคน 20% และในสัตว์ 30% ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ได้แก่ 1. ระบบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 2. ควบคุมการกระจายของยาปฏิชีวนะ 3. ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาลและร้านยา 4. ป้องกันควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5. สร้างความตระหนักรู้ของประชาชน และ6. พัฒนากลไกการจัดการแบบบูรณาการ
“ประเทศไทยไม่สนับสนุนการใช้ยาต้านปฏิชีวนะ เพื่อเป็นสารเร่งการเติบโตในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค จึงมีมาตรการทางกฎหมาย โดยอย.ไม่อนุมัติข้อบ่งใช้เพื่อเป็น Growth promoter ในการขึ้นทะเบียนยาสัตว์ และปศุสัตว์มีการประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดเป็น Growth promoter เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ส่งออกก็มีปัญหา ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบ”ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้านน.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภาคประชาชนโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา ทำการสุ่มตรวจเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่ง ในกทม. ประกอบด้วย ตลาดสดพรานนก ตลาดใหม่บางแค ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดคลองเตย ตลาดบางกะปิ ตลาดกลางนครร่มเกล้า ห้างค้าปลีก 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 บิ๊กซี สะพานควาย โฮมเฟรชมาร์ สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน แมคโคร สาขาสามเสน ท็อปส์ สาขาเซนจูรี่ ซีพี เฟรชมาร์ท สาขาชินเขต เนื้อหมูคุโรบูตะ กรูเมต์มาร์เก็ต สาขาพารากอน หมูเอสเพียว สันใน เบทาโกร ช็อป สาขาประชาชื่น และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง จากซีพี เฟรชมาร์ท รวม 15 แห่ง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน
“ผลการสุ่มตรวจพบว่าเนื้อหมูจาก 2 แหล่งตัวอย่าง หรือคิดเป็น 13% ที่มีการตกค้างของยาคลอร์เททระไซคลีน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรีย โดยพบในปริมาณ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ในเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกัม ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งผลการสุ่มตรวจครั้งนี้จะส่งให้กับกรมปศุสัตว์และอย.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมทั้งแจ้งเจ้าของตลาดให้รับทราบเพื่อช่วยกำกับดูแลถึงต้นตอของปัญหาต่อไป”น.ส.สาลี กล่าว
นายสิทธิชัย สุขสมบูรณ์ ฟาร์มตัวอย่างเลี้ยงหมูปลอดยาปฏิชีวนะ กล่าวว่า เดิมใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงหมูเป็นประจำ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายเดือนละ 100,000 บาท จากนั้นเริ่มมีปัญหาสุขภาพต้องไปหาหมอเพื่อฉีดยาเดือนละ 2 เข็ม แต่เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ล้มละลาย จึงต้องลดจำนวนการเลี้ยงหมูและไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่มีเงินมากพอในการซื้อ โดยเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติผ่านหยวกกล้วยหมัก
"ในช่วงแรกมีหมูเจ็บป่วยจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นหมูเริ่มปรับตัวแข็งแรงมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยาผสมในอาหาร และสังเกตเห็นว่าภายใน 3 ปี อาการป่วยเริ่มหายไปเพราะไม่ได้สัมผัสสารเคมีที่มาจากยา จึงมองว่าการทำธุรกิจโดยเอาสารพิษใส่ปากคน คนเลี้ยงและผู้บริโภคจะได้รับอันตรายอย่างมาก และเมื่อเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบธรรมชาติพบว่า เนื้อหมูกลับมีคุณภาพที่ดีกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อนุ่ม ประหยัดต้นทุนได้มากกว่า"