ธ.ก.ส. เซ็นต์สัญญาวีสมาร์ทออก “บัตรเครดิตชาวนา” ปีนี้แจก 1 ล้านใบ
ธ.ก.ส.เซ็นต์สัญญาวีสมาร์ท ทำบัตรเครดิตชาวนา 177 ลบ. นำร่องแล้ว 5 พันใบ 5 จว. เตรียมแจก 1 ล้านใบปีนี้ อีกล้านใบปี 56 จำนำข้าวสิ้นสุดปลาย ก.พ. คาด 8 ล้านตัน 1.4 แสน ลบ. เตรียมจำนำนาปรังต่อ
วันที่ 15 ก.พ. 55 ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาเช่าบริการระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกร ระหว่างนายอวยชัย อัครวณิชเลิศ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับ ดร.วัชรี พรรณเชษฐ์ กรรรมการผู้จัดการบริษัท วี-สมาร์ท จำกัด โดยนายลักษณ์ กล่าวว่า โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรรับบริการผ่านบัตรสินเชื่อที่มีวงเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. ได้เลือกเช่าเหมาบริการระบบงานบัตรสินเชื่อเกษตรกรของบริษัท วี-สมาร์ท จำกัด ระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 177 ล้านบาท ซึ่งโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่งมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกร จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 ใบ พร้อมติดตั้งระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้สำนักงานสาขา ธ.ก.ส.ไม่น้อยกว่า 5 สาขา ติดตั้งระบบให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สกต.) สหกรณ์การเกษตร และร้านค้าเครือข่ายที่ขึ้นทะเบียนกับสกต. ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง
“ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการทดลองระบบบัตรสินเชื่อเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัดแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี ซึ่งพิจารณาจากพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและใช้ปัจจัยการผลิต 3 ชนิดเป็นหลัก โดยมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการทดลองใช้บัตรทั้งสิ้น 5,339 ราย”
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า ระยะที่ 2 บริษัทจะส่งมอบบัตร 2 ล้านใบให้ ธ.ก.ส.แจกให้เกษตรกรลูกค้าทั่วประเทศ พร้อมติดตั้งระบบให้สำนักงาน ธ.ก.ส.สาขาอีก 1,000 แห่ง และ 3,000 ร้านค้าที่ร่วมโครงการ ภายใน พ.ค.นี้ คาดว่าปี 55 จะแจกแก่เกษตรกรทำนาปี 1 ล้านใบ และปี 56 อีก 1 ล้านใบ ทั่วประเทศ
หลักเกณฑ์ของเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ต้องเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. 2.ต้องไม่มีหนี้ค้างชำระ ธ.ก.ส. และไม่เป็นลูกค้าตามโครงการพักชำระหนี้ และ 3.ต้องประกอบอาชีพทำนาและมีผลผลิตข้าวส่วนเหลือเพื่อขาย และต้องนำข้าวเข้าจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส.กำหนดวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตของเกษตรไว้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขาย ส่วนบัตรสินเชื่อเกษตรกร กำหนดวงเงินตามความจำเป็นในการผลิตข้าวของเกษตรกรแต่ละราย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันร้อยละ 7/ปี ปลอดดอกเบี้ย 30 วัน
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวนาปีที่จะสิ้นสุดใน ก.พ. 55 ว่ามีเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการประมาณ 6 ล้านตัน ใช้งบประมาณแล้ว 1 แสนล้านบาท ส่วนการรับจำนำข้าวนาปีภาคใต้ยังคงยืดเวลาออกไป และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการอีก 15 วัน จะมีข้าวเข้ารับจำนำ 8 ล้านตัน รวม 1.4 แสนล้านบาท
“ส่วนการรับจำนำข้าวนาปรัง ต้องรอมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่จะประชุมใน 2 สัปดาห์หน้า แต่คาดว่าปีนี้จะมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 16 ล้านไร่ ผลผลิต 12 ล้านตัน” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว .