ทีดีอาร์ไอชี้ E-bidding ประหยัดงบจัดซื้อจัดจ้างได้กว่า 5 หมื่นล้าน
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ชี้ E-bidding ระบบจัดซื้อจัดจ้างดีที่สุดประหยัดงบได้ 14% หรือกว่า 5 หมื่นล้าน ยันพลังข้อมูล ช่วยป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นได้แบบไม่สะเปะสะปะ ไม่ต้องเสียเงิน แค่เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนช่วยตรวจสอบ พบข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพบ กว่า 5 ล้านรายการ กรมบัญชีกลางให้แต่ละหน่วยงานส่งข้อมูลเข้ามา แต่ไม่ได้ตรวจสอบรายงานครบหรือไม่
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 “ฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับประเทศ โดยมองว่า ความโปร่งใสที่ดีที่สุด คือรัฐไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เปิดเผยข้อมูลออกมา ซึ่งก็จะสามารถป้องกันการคอร์รัปชั่นได้แล้ว
"มาตรการ หรือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการปราบปราบคอร์รัปชั่น โดยไม่ต้องใช้เงินเลย ก็คือให้รัฐเปิดเผยข้อมูล เพราะเรามีคน 65 ล้านคนช่วยดูข้อมูล"
ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงงานวิจัยข้อมูลเพื่อสร้างนโยบายที่ดี พยายามชี้ให้เห็นว่า หากรัฐเปิดเผยข้อมูลเราสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างไร ในเมื่อภาครัฐมีข้อมูลเยอะมาก (Big Data) หลักล้านรายการ โดยเฉพาะข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง (G-procurement) เราจึงวิจัยลองนำ Big Data ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ในส่วนของการก่อสร้างของ 3 กรม ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน มาศึกษา พบว่า มีเกือบ 4 แสนรายการ และยังพบความแตกต่างระหว่างราคากลาง กับราคาที่ประมูลได้ ส่วนมากติดอยู่ที่ราคากลาง ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนการแข่งขัน
ดร. เดือนเด่น ถึงงบจัดซื้อจัดจ้างเฉลี่ยปี 2558-2559 อยู่ที่ 9 แสนล้านบาท แค่ข้อมูลปี 2559 ก็ชี้ชัดว่า เมื่อนำระบบ E-bidding มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างราคาจัดซื้อจัดจ้าง กับราคากลางแตกต่างกันมากกว่าประมูลด้วยระบบ E-auction อย่างชัดเจน
"จากปี 2558-2559 รัฐนำระบบ E-bidding มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยประหยัดได้ถึง 14% หรือ 56,000 ล้านบาท ทำให้เรารู้ว่า E-bidding เป็นระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ดีที่สุด "ดร. เดือนเด่น กล่าว และ ตั้งคำถามต่อว่า แล้วทำไมประหยัดงบจัดซื้อจัดจ้างได้แค่ 14-15% ได้มากกว่านั้นหรือไม่ ในงานวิจัยก็พบการกระจุกตัวของรายใหญ่สูงมากในแต่ละกรม บางกรมสูงบางกรมต่ำ และแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน พื้นที่ไกลจากกรุงเทพฯ จะพบการกระจุกตัวสูงที่สุด มีผู้ประกอบการไม่กี่รายได้รับงาน โดยบางจังหวัดมีผู้ประกอบการรายเดียวรับงานหมดเลยก็มี ซึ่งจะเห็นว่า โครงสร้างตลาดก่อสร้างยังมีรายใหญ่ถือครองส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 แม้จะนำ E-bidding มาใช้ก็ตาม
ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า พลังของข้อมูลบอกเราว่า พื้นที่ไหนมีปัญหา หน่วยงานรัฐด้วย ซึ่งจะทำให้เราป้องกันการคอร์รัปชั่นแบบไม่สะเปะสะปะ จัดทำนโยบายให้ตรงจุด มิเช่นนั้นเราก็มัวแต่ไปแก้ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ แก้แล้วก็ยังปัญหาอยู่ดี เพราะเราไม่เคยใช้ประโยชน์จากข้อมูล เราไม่เคยดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน หากมีข้อมูลสามารถเจาะระดับเขต ซึ่งก็ทำได้
"วันนี้เรามีฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง 5.5 ล้านรายการ ปัญหาคือ กรมบัญชีกลางให้แต่ละหน่วยงานรายงานข้อมูลเข้ามา แต่ไม่ได้ตรวจสอบรายงานครบหรือไม่ เบื้องต้นต้องตรวจสอบการรายงานข้อมูลให้ตรงกัน เพื่อให้แน่ใจว่า รายงานจัดซื้อจัดจ้างครบถ้วน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทีดีอาร์ไอจี้รัฐ "ปฏิวัติข้อมูล" Open Data ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ