ไฟใต้ไม่ได้เปลี่ยนรูป...แต่ยิ่งชัดขึ้น และ"พื้นที่ปลอดภัย"ยิ่งยาก
ปัญหาภาคใต้ตอนนี้ กำลังเป็นช่วงของการตั้งคำถามโต้แย้งกันเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย"
ถ้ายังจำกันได้ 28 ก.พ.60 โต๊ะคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลคุยกับ มารา ปาตานี ได้ผลประชุมสรุปว่าจะร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยเสนอชื่อกันมา 5 อำเภอ เป็น 2 อำเภอใน จ.ยะลา 2 อำเภอใน จ.นราธิวาส และ 1 อำเภอใน จ.ปัตตานี จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการประเมินพื้นที่ร่วมกัน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แล้วสรุปเหลือ 1 พื้นที่เป็นอย่างน้อย เพื่อเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ระดับอำเภอ
ผลประชุมก็สร้างความยินดีให้กับหลายฝ่าย ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการพูดคุยฯ
แต่แล้วก็เกิดปัญหาที่นำมาสู่กระแสวิจารณ์อย่างหนักมาก ก็คือเหตุรุนแรงในช่วงก่อนและหลังการพูดคุยฯ
ช่วงก่อน...คือเหตุ เผา อบต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปล้นรถทำคาร์บอมบ์ (26 ก.พ.) และเหตุฆ่าสองสามีภรรยาที่ อ.เทพา จ.สงขลา และปล้นรถทำคาร์บอมบ์เช่นกัน (28 ก.พ.)
ช่วงหลัง...คือวันที่ 2 มี.ค. ยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่กำลังไปส่งนักเรียน ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตาย 4 เด็กตายด้วย ตกบ่ายยิง รปภ.องค์กรท้องถิ่นเสียชีวิต ตกค่ำยิงทหารขณะไปเดินตลาดเสียชีวิตอีก 3 นาย เรียกว่าวันเดียว 8 ศพ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า พื้นที่ปลอดภัยจะไปได้จริงเหรอ ลามไปถึงการโจมตีว่าการพูดคุยฯว่าไม่ใช่ของจริง ไปคุยกับตัวปลอม ซึ่งเรื่องนี้ก็วิจารณ์กันมาบ้างก่อนหน้านี้ พี่น้องไทยพุทธออกมาเรียกร้องให้เลิกพูดคุย เลิกพาคนกลับบ้าน บอกว่าเป็นการ "พาโจรกลับบ้าน"
กระแสวิจารณ์ผ่านสื่อ ทำให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ออกมาตำหนิ เพราะไม่พอใจ เหมือนกับว่าการพูดคุยทำให้เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งจริงๆ ไม่มีใครว่าท่าน เพียงแต่ว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตจากสถานการณ์ที่เกิด
แต่ถึงอย่างไรการพูดคุยฯก็จะเดินหน้าต่อไป รัฐบาลยืนยัน นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยัน และบอกว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการพูดคุย
ถามว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว...จริงๆ แล้วมีคำตอบ แต่ก่อนจะตอบมาดูข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องหลังเหตุการณ์
เริ่มจากเผาอบต.โฆษิต น่าจะเป็นเรื่องการเมือง ปกปิดหลักฐานการทุจริต ส่วนการปล้นรถไปซุกระเบิดถังแก๊ส อาจทำเพื่อลวงหรือเบี่ยงเบนประเด็น
เหตุฆ่าสามีภรรยาที่ อ.เทพา และปล้นรถทำคาร์บอมบ์ เหตุการณ์นี้น่าจะฝีมือผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง เป็นเหตุความมั่นคง
เหตุยิงทหาร ตอนนี้ยังไม่สรุปชัด แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปล่อยภาพผู้ต้องสงสัยออกมา เป็นผู้ก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ใน อ.มายอ
ที่น่าสนใจคือยิงรถนักเรียน ยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่รือเสาะ จากการลงพื้นที่พบว่า ต.โคกสะตอ เป็นพื้นที่นิคมสร้างตนเอง มีคนพุทธเยอะ และเป็น "พุทธต่างถิ่น" คือย้ายเข้าไปอยู่ ย้ายไปจากนอกพื้นที่ พื้นที่ตรงนั้นมีอิสลามอยู่บ้าง แต่ผู้ช่วยฯท่านนี้ก็เข้ากับทุกกลุ่มได้ดี ที่เข้ากันไม่ได้คือการเมืองท้องถิ่น พบร่องรอยว่ามีปัญหากันค่อนข้างแรง ก่อนเกิดเหตุมีทะเลาะเบาะแว้งกันด้วย
แต่เมื่อไปดูผลตรวจอาวุธปืน กลายเป็นปืนที่เรียกว่า "ปืนโจร" เป็นปืนที่เคยก่อเหตุความมั่นคงมาอย่างน้อย 21 คดี มีเอ็ม 16 เอชเค 33 และ 9 มม. ปืนเหล่านี้ถูกใช้ยิงเยอะมาก ยิงทหาร ยิงตำรวจ ยิงชาวบ้าน โจมตีฐานก็เคย
ตรงนี้ทำให้มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ตกลงเรื่องการเมือง หรือความมั่นคง ขณะที่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า น่าจะเป็นเรื่องการเมือง แล้วยืมมือแนวร่วมขบวนการฯดำเนินการ หรือไม่ก็พวกนี้รู้จักกัน เอื้อประโยชน์กัน
จากภาพเหตุการณ์ทั้งหมดที่ไล่เรียงมา น่าจะสรุปได้ว่า "พื้นที่ปลอดภัย" ต้องเดินต่อ แต่มีความอ่อนไหว เพราะทุกครั้งที่มีนัดพูดคุย ก็จะมีพวกต่อต้าน ซึ่งก็คือพวกกลุ่มขบวนการที่ไม่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุย พวกหัวรุนแรง หรือพวกเดินหน้าใช้อาวุธในการต่อสู้ ก็จะระดมกันก่อเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีพวกขัดแย้งส่วนตัว ขัดแย้งการเมือง ขัดแย้งผลประโยชน์ มาจัดการเช็คบิลกันช่วงที่จะมีการพูดคุยฯ หรือพูดคุยฯผ่านไปหมาดๆ ด้วย เพื่อเบี่ยงเบนคดี ทำให้เจ้าหน้าที่สับสน สังคมสับสน ฝายผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่เอาการพูดคุยฯก็ชอบ เพราะได้ประโยชน์ด้วย
ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ มีความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ก่อความไม่สงบ กับอิทธิพลท้องถิ่น และธุรกิจเถื่อนค่อนข้างชัดเจน เพราะต้องไม่ลืมว่าปืนที่ใช้ก่อเหตุ เคยใช้ในการก่อความไม่สงบมาก่อน ผู้ที่ศึกษาการทำงานของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะทราบว่า ปืนที่กลุ่มขบวนการใช้ จะเป็น "ปืนกลาง" ไม่ใช่ปืนของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ปืนจะเคลื่อนที่ไปตามพื้นที่เกิดเหตุที่ขบวนการสั่งให้ทำ
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้พอจะอนุมานได้ว่า สถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดมาหลายปี อิทธิพลท้องถิ่นก็อาจเอาปืนมาใช้ หรือดึงคนจากขบวนการมาใช้ หรืออาจว่าจ้างบ้าง ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงก็อาจมีบางคน บางกลุ่มรับจ้างก่อเหตุ โดยใช้ปืนของขบวนการ เพื่อโยนเหตุการณ์ให้เป็นประเด็นแบ่งแยกดินแดน ระดับนำของขบวนการจะชอบหรือไม่ชอบ...ตอบยาก เพราะในบางมุมก็อาจสมประโยชน์เมื่อมีเหตุรุนแรงเกิด แต่พวกอิทธิพลท้องถิ่น ทำธุรกิจเถื่อนชอบแน่ ได้เช็คบิลกันโดยโยนความผิดให้ผู้ก่อเหตุรุนแรง
นี่คือความยากและความอ่อนไหวของปัญหาที่จะต้องแก้กันต่อ และไม่แน่ว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับ มารา ปาตานี เพื่อสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" จะประสบความสำเร็จได้จริง เพราะพื้นที่มีปัญหาซับซ้อนมากกว่ากลุ่มที่อ้างว่าต่อสู้เพื่ออุดมการณ์
ล่าสุดมีการสร้างกระแสจากบางกลุ่ม เหมือนเพิ่งรู้ว่าเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องทางความมั่นคงทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามรักษาความชอบธรรมของการพูดคุยฯเอาไว้ต่อไป ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจ ได้แยกแยะเหตุความมั่นคงออกจากอาชญากรรมทั่วไปนานมากแล้ว ตัวเลขเหตุรุนแรงและความสูญเสียต่ำกว่าตัวเลขจากบางองค์กรที่เผยแพร่กันเกือบเท่าตัว ขณะที่เหตุความมั่นคงเทียบกับอาชญากรรมทั่วไป อยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 53 เท่านั้น
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ ขณะที่ประเด็นภัยแทรกซ้อนไฟใต้ถือว่าน่าสนใจ (ซึ่งบางกลุ่มพยายามไม่ยอมรับ) โดยเฉพาะหากมีความเชื่อมโยงกันจริงระหว่างอิทธิพลท้องถิ่นกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เพราะการพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" ก็จะยิ่งถูกท้าทายและตั้งคำถามมากขึ้นกว่าเดิม
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากกรุ๊ปไลน์เจ้าหน้าที่ จ.นราธิวาส