13 ปีทนายสมชาย...ภาวิณี ชุมศรี คว้ารางวัลนักสิทธิฯยอดเยี่ยม
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน คว้ารางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2560 จากผลงานการช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย รวมถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีทั้งกรณีซ้อมทรมานและอุ้มหายตลอดระยะเวลา 13 ปีของสถานการณ์ความรุนแรง
งานรำลึก 13 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 11 มี.ค.60 โดยกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ได้ประกาศรางวัลนักสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการลงมติให้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลในปีนี้
สำหรับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2560 มีจำนวน 3 รางวัล ได้แก่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และกลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คนที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ภาวิณี ชุมศรี เจ้าของรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2560 กล่าวว่า งานของเธอคืองานทนายความ ซึ่งความจริงต้องชื่นชมกลุ่มต่างๆ ที่กล้าหาญออกมาต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวจนเสี่ยงถูกดำเนินคดี ถูกสังหารนอกระบบ รวมถึงถูกทำให้หายไป
"บทเรียนที่เราได้ในฐานะที่เป็นทนายความคือ ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วมันมาจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเอง" ภาวิณี กล่าว
เธอบอกด้วยว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานยากลำบาก ก็คือโครงสร้างของรัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูง แม้มีอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่อำนาจเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่ถ่วงดุลกัน คือ ฝ่ายบริหารเอนเอียงไปทางฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนที่น่าสะท้อนใจคือ ฝ่ายตุลาการก็ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการออกกฎหมายที่มิชอบ
"กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ปลายน้ำ คดีต่างๆ ควรได้รับการตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิ และต้องได้รับแรงใจจากคนในสังคมด้วย" ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าว
ขณะที่ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งปกป้องชุมชนจากผลกระทบการทำเหมืองทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวทำนองเดียวกันว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานปกป้องสิทธิชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบากไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่มาจากคนในชุมชนด้วยกันเอง
"เราเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน เราต่อสู้มาต่อเนื่อง ไปยื่นหนังสือแต่ก็ไม่เป็นผล ชุมชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตอนแรกคนก็ช่วยเหลือกัน แต่พอโดนทำร้าย โดนคดี ทุกคนก็เริ่มถอย คนอื่นเขาทำมาหากิน แต่ทำไมเราต้องมาวุ่นวายเรื่องเหมือง แล้วกลุ่มก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้าน เป็นพวกหัวรุนแรง เราถูกมองแบบนั้น ก็พยายามสื่อสารกับพี่น้องว่า การที่เราสื่อสารมันไม่ผิด เรามีสิทธิที่จะพูด แต่ถ้าแม้คนในชุมชนเองยังไม่เข้าใจ มันก็บั่นทอนกำลังใจ ถ้าชุมชนไม่ช่วยกันดูแล ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อ" วิรอนกล่าว และว่า เราคิดท้อได้ แต่ท้อจริงๆ ไม่ได้ ถ้าเราไม่สู้ ก็อยู่ไม่ได้ พร้อมย้ำว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่จะสร้างผลกระทบที่หนักขึ้นกว่าเดิม ในฐานะคนในพื้นที่ จะขอคัดค้านเต็มที่ โดยจะใช้ความเข้มแข็งสามัคคีสู้ให้ถึงที่สุด
ด้าน พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขึ้นรับรางวัลแทนลูกชายซึ่งยังถูกคุมขังเพราะไม่ได้รับประกันตัว โดยบอกว่า คำว่ามนุษยชนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไผ่เองเป็นเด็กวัยรุ่นที่มองสภาพปัญหาสังคม การจะเข้าไปเห็นปัญหาชาวบ้านหรือความเดือดร้อนของคนในหมู่บ้านนั้นไม่ใช่สิ่งที่มโนขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และการต่อสู้จะใช้เวลานาน จะให้รัฐเป็นฝ่ายสำนึกเองคงยาก ไผ่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
"ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้แก่อำนาจรัฐโดยไม่ท้วงติง สภาพต่างๆ ก็จะเป็นอย่างทุกวันนี้ ความชอบด้วยกฎหมายมันต้องมีจิตสำนึกด้วย" พริ้ม กล่าว และว่า ลูกชายกับแม่ หัวใจเดียวกัน ไผ่มีจิตสาธารณะ แม่ภูมิใจในตัวลูกมาก
แยแย หญิงตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มแรงงานพม่า 14 คนที่เผชิญหน้าทั้งในฐานะเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องจากนายจ้าง บริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่รายใหญ่ กล่าวว่า ในสภาพการทำงานที่ยากลำบากที่ต้องทำงานเกินเวลา ลูกจ้างทั้ง 14 คนยังถูกนายจ้างเก็บพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงานไว้ เมื่อเธอและเพื่อนพยายามเรียกร้องสิทธิ ก็ถูกฟ้องกลับด้วยข้อหาลักทรัพย์เพราะขโมยใบตอกบัตร รวมทั้งตำรวจเองก็พยายามจะให้เซ็นเอกสารที่มีแต่ภาษาไทย ทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก ปัจจุบันเธอและเพื่อนๆ ลาออกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว แต่ยังมีคดีความอยู่หลายคดี รวมถึงคดีที่กลุ่มแรงงานเป็นฝ่ายฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกละเมิดเป็นระยะเวลานานหลายปีด้วย
อนึ่ง กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 จากส่วนหนึ่งของเงินรางวัลแมกไซไซ ที่ จอน อึ๊งภากรณ์ ได้รับ โดยรางวัลนี้มุ่งเน้นเป็นกำลังใจให้คนทำงานที่เสนอปัญหาการละเมิดสิทธิ และปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเสนอชื่อบุคคล กลุ่มบุคคล ผลงานสื่อ และผลงานวิจัย ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
ปัจจุบันกรรมการกองทุนได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประทับจิต นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และ อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาวิณี ชุมศรี ขณะขึ้นรับรางวัล
2 แยแย กับเพื่อนแรงงานพม่าที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรม
ขอบคุณ : ข้อมูลข่าวและภาพจากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร