นายกฯ เล็งยกระดับไทยเป็น “ศูนย์กลางการบิน” ในภูมิภาค
นายกฯ เผยคณะกรรมการ ป.ย.ป. สำรวจพบ “อุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน” จะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ช่วยให้ GDP เจริญเติบโต พร้อมให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งด้านการเป็น “ศูนย์กลางการบิน-ศูนย์ซ่อมอากาศยาน-ศูนย์กลางคลังสินค้าและการขนส่งทางอากาศ และศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วน”
วันที่ 10 มี.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ตอนหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงถึงกรณี “การสำรวจตัวเอง” ของคณะกรรมการ ป.ย.ป. ที่พบว่า “อุตสาหกรรมอากาศยาน และธุรกิจการบิน” จะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยมีความเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ สำหรับขนส่งคน สินค้า การท่องเที่ยว รวมทั้งรองรับธุรกิจ e-Commerce สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างการเจริญ เติบโตของ GDP ของประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงที่ตั้งของประเทศไทย มีความเหมาะสมกับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ซึ่งเปิดโอกาสให้เราสามารถขยาย “เส้นทางบิน” ได้อีกราว 2 เท่า จากเดิม 104 เส้นทาง เป็น 193 เส้นทาง ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกันของ “โครงข่ายสนามบิน” ทั้ง 39 แห่งของประเทศในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
"ปัจจุบันสนามบินหลัก ทั้ง 6 แห่งของประเทศ ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง ภูเก็ต และหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ใช้บริการ ที่เกินกว่าศักยภาพ รวม 23 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดกับคับคั่ง ล่าช้า ในการให้บริการ ซึ่งก็นับเป็นปัญหาและแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อม ดังนั้นเราต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคตนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
สำหรับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานและธุรกิจการบิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่คณะกรรมการ ป.ย.ป. เห็นชอบในหลักการ และให้ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านต่าง ๆ ทั้งความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบต่าง ๆ ให้รอบด้าน เพื่อยกระดับให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการบิน” ในภูมิภาค ประกอบด้วย
(1) การเป็น “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” โดยการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของไทย ให้พร้อมรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
(2) การเป็น “ศูนย์กลางคลังสินค้าและการขนส่งทางอากาศ” ก่อนกระจายไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และให้ความสำคัญในการรองรับธุรกิจ e-Commerce ในอนาคต
และ (3) การเป็น “ศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วน” ด้วยการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ เพื่อ “ปลดล๊อค” และส่งเสริมบทบาทของไทย ที่มี “ภูมิรัฐศาสตร์”ซึ่งได้เปรียบและเหมาะสมกว่า ซึ่งจำเป็นจะต้องวางข่ายการคมนาคมระหว่างภายนอกสนามบิน กับทางเข้าเมืองด้วย