สวีเดนให้พ่อลาเลี้ยงลูก 3 เดือน ทูตฯชี้สร้างความเสมอภาค-หญิงมีความสุขมากขึ้น
ทูตสวีเดน ชี้สิทธิ์ลาเลี้ยงลูกของผู้ชาย ช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ด้านรองปลัดก.แรงงาน มองสิทธิ์ลางานอาจช่วยนโยบายมีลูกช่วยชาติ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ขณะที่อิเกียไทย เผยให้สิทธิ์พนักงานชายลาได้ 4 สัปดาห์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอศิลปและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สถานทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย และอีเกีย ประเทศไทย แถลงข่าว “Parternity leave- a step toward Gender Equality สิทธิการลาเลี้ยงบุตร ก้าวที่สำคัญสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ”
นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริมม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวถึงการลาเลี้ยงลูกโดยรับค่าจ้างเป็นสิทธิ์ที่ทั้งพ่อและเเม่ควรจะได้รับ สวีเดนใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี2517 โดยกำหนดให้ผู้ชายมีสิทธิ์ลาเลี้ยงลูกได้ทั้งหมด 90 วัน จากวันลาทั้งหมด 480 วัน เรียกว่า เป็น 3 เดือนแห่งการเป็นพ่อคน นโยบายนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ
“นอกจากผู้ชายจะถูกมองว่า เป็นพ่อได้รับการปฏิบัติอย่างพ่อ ได้ชื่อว่า เป็นพ่อ มีสิทธิในการเป็นพ่อแล้ว แน่นอนต้องทำตัวให้สมกับการเป็นพ่อด้วย”
เอกอัครราชทูตสวีเดน กล่าวถึงการแบ่งเวลาเลี้ยงลูกให้พ่อและแม่เท่าๆ กันมีผลดีหลายอย่าง ไม่เฉพาะกับผู้หญิง เห็นได้ชัดว่า ผู้ชายสวีเดนเริ่มมีส่วนรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก ผู้หญิงมีรายได้และความสุขมากขึ้น นอกจากนั้นการลาเลี้ยงลูกก็ยังส่งผลดีกับผู้ชาย ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูก มีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพและก่อให้กิดประสบการณ์ที่แสนวิเศษร่วมกันกับลูก
ทั้งนี้ ประเทศสวีเดน พ่อและแม่มีสิทธิลางานถึง 480 วัน หรือ 16 เดือน โดยได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงดูลูกหรือลูกบุญธรรม นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก โดยพ่อและแม่จะได้รับวันลาคนละ 3 เดือน ส่วนอีก 10 เดือนที่เหลือสามารถแบ่งกันได้ตามพอใจระหว่างพ่อและแม่
ด้าน นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสำหรับคุณพ่อในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน ในภาคเอกชนเรามีความพยายามที่จะพูดคุยเรื่องนี้ อาจต้องไปปรับในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เบื้องต้นเรามีหนังสือขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนอื่นๆ ให้คุณพ่อมือใหม่ ลางาน 15 วันได้ไหม ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายค่าจ้างด้วยหรือไม่ ส่วนว่าจะขยับมากนั้นหรือไม่ ยังไม่มีการพูดคุยในส่วนนี้
"มาตรฐานของสวีเดนสูงมาก ซึ่งประกาศใช้มานานแล้ว ขณะที่สภาพสังคมของไทยนั้นก็ไม่เหมือนกับทางยุโรป ภาพของสังคมไทยคือแม่จะรับบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า"
ในประเด็นที่ว่านโยบายลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของผู้ชาย จะช่วยส่งเสริมนโยบายมีลูกช่วยชาติหรือไม่นั้น นายสิงหเดช กล่าวว่า อาจมีส่วน แต่คงไม่ใช่แรงจูงใจมากนัก เพราะการมีบุตรหนึ่งคน ไม่คุ้มกับการเพิ่มจำนวนวันลาเพื่อเลี้ยงบุตรเท่าไหร่ เพราะปัญหาหลักคือปัจจัยในการครองชีพที่สูงมากกว่า การมีลูกจึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง สังคมไทยมองว่า การมีบุตรเพิ่มเท่ากับเพิ่มค่าใช้จ่าย ดังนั้นแรงจูงใจที่ว่า หากได้ลาหยุดเพื่อดูเเลบุตรมากขึ้นจะช่วยเสริมนโยบายมีลูกช่วยชาติคงไม่ใช่ส่วนสำคัญ ถึงอย่างไรรัฐมีความพยายามในการส่งเสริในเรื่องอื่น อย่างเช่นสวัสดิการอื่นๆ ที่มาช่วยหนุนเสริม
ด้าน นายลาร์ส สเวนสัน ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสารบริษัท อิคาโนรีเทล เอเชีย(อิเกียภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กล่าวว่า อิเกียสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อสังคม ปัจจุบัน อิเกีย ประเทศไทย มีพนักงานเป็นผู้หญิงถึง 53% และมีผู้บริหารเป็นผู้หญิงกว่า 75% อิเกียสโตร์ที่บางนา มีผู้จัดการหญิง 2 คน ที่ผ่านมาอิเกียได้ลงมือทำหลากหลายสิ่งเพื่อเพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้หญิงซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น ก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่ง ได้แก่ การเป็นตัวอย่างในภูมิภาคนี้ในการเริ่มนโยบายให้ผู้ชายมีสิทธิ์ลาเลี้ยงลูก
"ปัจจุบันมีพนักงานชายหนึ่งคนที่ได้รับสิทธิ์ให้ลางานได้ 4 สัปดาห์เพื่อเลี้ยงลูก นโยบายนี้ได้สะท้อนถึงความสำคัญของการแบ่งปันความรับผิดชอบในบ้าน เสริมสร้างบทบาทของผู้หญิง ทั้งยังส่งเสริมความผูกพันระหว่างพ่อกับลูก" นายลาร์ส กล่าว.