ม.นครพนม เตรียมปั้นศูนย์ซ่อมอากาศยาน -ขยับปวส.สู่ป.ตรี วิศวกรรมการบิน
อธิการม.นครพนม วาง "ยุทธศาสตร์หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง" จับมือ ม.ในลาว-เวียดนาม-จีน และบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทย ให้ทุนการศึกษาผลิตคนและส่งเข้าทำงาน พร้อมขยับหลักสูตร ปวส. ให้เป็นปริญญาตรีวิศกรรมการบิน
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการบริหารงานมหาวิทยาลัยนครพนมยุคใหม่ว่า ม.นครพนมมีความเฉพาะตัวตรงที่มีอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา 2 ระบบอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ช่วงที่เข้ารับการสรรหาอธิการบดี ก็ได้มีการแสดงวิสัยทัศน์จะเชื่อมระบบอาชีวศึกษาเข้ากับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนให้รองรองรับจุดเชื่อมต่อของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
“นครพนม ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราจึงวางยุทธศาสตร์ ที่เรียกว่า "ยุทธศาสตร์หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง" โดย ม.นครพนม จะทำงานร่วมกับ ม.ในลาวและเวียดนาม ซึ่งตอนนี้เราสามารถเพิ่มนักศึกษาลาวและ เวียดนาม เกือบ 100 คนแล้ว และกำลังทำความร่วมมือกับ ม.ในจีน จับมือกับบริษัทใหญ่ๆในประเทศไทย ให้ทุนการศึกษา 400 ทุน เพื่อผลิตคนและส่งเข้าทำงานในบริษัทเอกชนได้เลย” รศ.ดร.ประวิต กล่าว และว่า ในอนาคตจะรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนด้วย อีกทั้งกำลังจะไปตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทยที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งสภามหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติแล้ว
เมื่อถามว่า นักศึกษาจากเวียดนาม สนใจเรียนด้านไหนเป็นพิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า ส่วนใหญ่นักศึกษาจากเวียดนาม จะเน้นเรื่องของการท่องเที่ยว การเกษตร และการจัดการบริหารธุรกิจ และส่วนจากลาว มาเรียนหลักสูตรการบิน ซึ่งสายการบินลาวแอร์ไลน์ ส่งมาเรียนมหาวิทยาลัยเรา
รศ.ดร.ประวิต กล่าวถึงหลักสูตรการบินของม.นครพนม มีอยู่ 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรนักบินที่ผลิตนักบินให้กับสายการบินแอร์ไลน์ต่างๆ มีทั้งไทย ลาว สิงค์โปร พม่า และการ์ต้าแอร์ไลน์ ก็ส่งคนมาเรียน วันนี้หลักสูตรการบินกำลังเจรจากับประเทศจีน จะมีศิษย์การบินจากจีนมาเรียนที่เรา ซึ่งเป็นการฝึกจริง และฝึกด้วยเครื่องซิมมูเลเตอร์ (Simulator) ของแอร์บัส A320 ส่วนหลักสูตรที่ 2 การบริหารการบิน ระดับปริญญาตรี ม.นครพนมจับมือกับสายการบินต่างๆ ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วก็สามารถไปเป็นแอร์โฮสเตส และพนักงานภาคพื้นได้ และหลักสูตรที่ 3 ที่ม.นครพนมเปิดอยู่ ก็คือ ช่างซ่อมอากาศยาน และมีการส่งฝึกงานกับ สายการบินโดยตรง
“เรากำลังจะขยับตรงนี้ให้เป็นปริญญาตรีวิศกรรมการบิน ปัจจุบันมีเด็กประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นหลักสูตร ปวส.”
รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อว่า ม.นครพนม ยังไปจับมือกับ 4 มหาวิทยาลัยของจีน มุ่งเน้น 3 เรื่อง 1.เรื่องการบิน 2. เรื่องอาชีวะ และ3. เรื่องภาษาจีน ซึ่งอาชีวะจะมุ่งด้านวิศวกรรม และจีนอยากจะส่งนักบินมาฝึกกับเรา รวมถึงอยากให้เราทำหลักสูตรที่ผู้จบไปสามารถเข้าทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานอากาศยานได้ ซึ่งที่จีนยังไม่มี และเรากำลังจะทำหลักสูตรนี้อยู่
อธิการบดีม.นครพนม กล่าวถึงรัฐบาลที่มีเป้าหมายผลิตนักบินเพิ่มขึ้น โดยมอบหมายให้ 3 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย กองบิน 604 ที่ดอนเมือง สบพ. และ ม.นครพนม เพราะเป็นเพียง 3 แห่งที่เป็นของรัฐ โดยเป้าหมายของม.นครพนมต้องผลิตนักบินให้ได้ 80 คนต่อปี ฉะนั้น ม.นครพนม จำเป็นต้องมีเครื่องบินและครูการบินเพิ่ม แผนนี้เราได้เสนอให้รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิณ ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการแล้ว สำหรับอัตราครูการบินของ ม.นครพนม
รศ.ดร.ประวิต กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีครูการบินอยู่ 10 คน อนาคตมีแผนจะผลิตครูการบินใหม่เพิ่มอีก 30 คน เพื่อรองรับมาตรฐานหลักสูตรการบิน เราจะให้ทุนนักบินจากกองทัพต่างๆ ที่สนใจจะเป็นครูการบิน และส่งไปฝึกที่ออสเตรเลีย เพื่อให้ได้ใบอนุญาตทางด้านการบินของ CASA มีเงื่อนไขว่าต้องทำงานให้ม.นครพนม เป็นเวลา 3 ปี และมาตรฐานหลักสูตรนักบิน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ม.นครพนม มีแผนทำเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อรองรับเครื่องบินจากลาว และเวียดนามเข้ามาซ่อมต่อไปอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดใจอธิการบดี ม.นครพนม กับเรื่องร้องเรียนทำซ้ำบทความวิจัย