ถอดบทเรียนพูดคุยดับไฟใต้ยุค"อภิสิทธิ์" กับความพลาดผิดของกระบวนการปัจจุบัน
การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อหาหนทางยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลายครั้ง หลายยุค ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มหรือทำกันในรัฐบาล คสช.
เช่นเดียวกับการร่วมกันขีดวงกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ก็เคยทำกันมาบ้างแล้วในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ครั้งนั้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญ
วันนี้เราชวนเขาถอดบทเรียนการพูดคุยเมื่อครั้งกระโน้น และสรุปความผิดพลาดของการพูดคุยใน 2 รัฐบาลถัดมา คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับรัฐบาล คสช.
ที่น่าสนใจในมุมมองของ ไกรศักดิ์ ก็คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คือรัฐก็ร่วมก่อความรุนแรงด้วย ไม่ใช่ปฏิเสธและกล่าวอ้างว่าความรุนแรงเกิดจากฝ่ายเดียวดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การยอมรับและหยุดความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของสันติสุขจากโต๊ะพูดคุย
กระบวนการเปิด...ยากจะสำเร็จ
ไกรศักดิ์อธิบายจุดเด่นของการพูดคุยในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ว่า เป็นการพูดคุยทางลับ และใช้อินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
"ในอดีตเมื่อคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เราได้มีการพูดคุยกันกับฝ่ายขบวนการมาเลย์ของภาคใต้ (หมายถึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ) ซึ่งจริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นมาก่อนที่เราจะไปคุย เป็นการเจรจาในทางลับ แต่ไม่ได้เป็นการเจรจาหรือมีการจดทะเบียนป่าวประกาศ เพราะเราเชื่อว่าความสำเร็จมันยากมาก เพราะฉะนั้นถ้ามีการป่าวประกาศจะทำให้การเจรจาเป็นการโฆษณาทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการประณามกันและกัน และเรื่องที่ประณามก็เป็นเรื่องจริง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความรุนแรงกันทั้งคู่ ถ้าเป็นที่เปิด เป็นกระบวนการเปิด การเจรจาจะไม่สามารถสร้างผลดีได้เลย เพราะแต่ละคนจะตอบโต้กันไปมา เข้าห้องประชุมก็จะเคืองใจกันแล้ว
การที่คุณทักษิณ หรือคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอากระบวนการนี้มาแถลงการณ์เป็นข่าวทั่วโลกที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อันนี้ผิดพลาดมหาศาล นี่คือประเด็นแรก
ประเด็นที่สอง เราอนุญาตให้นายกฯ นาจิบ ราซัค (ผู้นำมาเลเซีย) เป็นคนจัดการประชุม ซึ่งรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางระหว่างบีอาร์เอ็น อาร์เคเค กับรัฐบาลมาเลเซีย ไม่รู้เลย หรือไม่สนใจ คุณยิ่งลักษณ์สนใจอย่างเดียวว่าพี่ชายตัวเองไปคุยกับนาจิบและตกลงกันแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีเลยกับขบวนการมาเลย์ แล้วคนที่เข้ามาพูดคุยก็ไม่ใช่ตัวแทน ไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นคนที่ลี้ภัยอยู่ที่นั่น และออกจากขบวนการเป็นเวลานานแล้ว
เช่น นายฮัสซัน ตอยิบ (หัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นในขณะนั้น) เคยพูดภายในว่าถ้าเขาไม่ร่วมมือเรื่องนี้ ครอบครัวเขาจะอยู่ในภัยพิบัติ โดนขู่ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องแสดงท่าทีว่าเหมือนเป็นตัวแทน ที่ชัดเจนที่สุดคืออันนี้ และในวันที่เขาประกาศการพูดคุย ก็มีการระเบิด 3 จังหวัดเกิดขึ้นหลายจุด มันเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ว่า "คุณไม่ได้มาพูดกับผม" แต่สถาปนากันขึ้นมาเอง
ปัจจุบันนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผมคิดว่าเข้าใจเรื่องนี้แล้ว แต่ว่าอับอาย (จึงไม่ยอมยกเลิก) เพราะว่าส่งเจ้าหน้าที่ของตัวเองไปคุยกันอย่างเรียบร้อยแล้ว"
ปัญหาของมาเลย์
ไกรศักดิ์ บอกว่า การขอให้อินโดนีเซียช่วยเป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดการประชุมกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพราะมีความจริงใจและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แตกต่างจากมาเลเซีย
"มาเลเซียเป็นประเทศที่ชอบเป็นตัวกลาง จัดการประชุมเอาชื่อเสียงสากล แต่ฝ่ายความมั่่นคงมาเลเซียไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมต่อขบวนการมาเลย์สักเท่าไหร่ การเข้าไปมีบทบาทเป็นตัวกลางที่ฟิลิปปินส์ในการจัดเจรจากับกลุ่มโมโรก็มีปัญหา และปรากฏว่าคล้ายๆ กันกับกรณีของเรา คือประชุมบางพวกเท่านั้น กลุ่มใหญ่ไม่ได้ประชุมด้วย ไม่เอาเข้าในกระบวนการพูดคุย นี่คือความบกพร่องอย่างยิ่ง
อย่าลืมว่าผู้ที่มีประสบการณ์ ผู้ที่รู้ดีในบ้านเราอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่สมัยคุณยิ่งลักษณ์ หรือสมัยนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติควรเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค มีความรู้ข่าวสารเชิงลึกรอบด้าน แต่ยุคคุณยิ่งลักษณ์กับยุคนี้กลับขาดแคลนมาก เพราะเอาเพื่อนที่เป็นตำรวจ ทหารเข้าไปกินตำแหน่งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ กลับโดนคัดออก"
รัฐต้องเลิกคุกคาม
เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ ไกรศักดิ์ ย้ำหลายครั้งตลอดการสัมภาษณ์ก็คือ ฝ่ายรัฐต้องเป็นผู้หยุดการใช้ความรุนแรง และให้ความมั่นใจกับคนที่มาคุย รวมถึงเรื่องช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
"ตอนนั้นเราทำพื้นที่หยุดยิง มีตัวแทนบีอาร์เอ็นและอาร์เคเคมาร่วม สิ่งที่เราเน้นย้ำอย่างมากก็คือ เจ้าหน้าที่ต้องไม่ไปทำอะไร เราต้องให้ความไว้วางใจ ให้ความมั่นคงต่อชีวิตของผู้ที่จะมาเจรจากับเรา ไม่ใช่เห็นตัวแล้วตามไปที่บ้าน ไปเล่นงานเขา แบบนี้มันไม่ได้ เราระมัดระวังมาก
การใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อน โดยผิดกฎหมาย เช่น การทรมาน บังคับให้สารภาพผิด แบบนี้ต้องยกเลิก ถึงจะมีเงื่อนไขที่ดีในการเจรจา การเคาะประตูยิงคน จับคนให้หายไป ต้องยกเลิกเรื่องแบบนี้ ผู้นำของเขาที่อาวุโสแล้ว อยู่ในคุกมานาน ควรปล่อยออกมา ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เข้าใจนี่ ปล่อย สะมะแอ ท่าน้ำ, บือโดเบตง (แกนนำพูโลเก่า)
เรื่องใช้ความรุนแรงต้องเลิกเด็ดขาด สมัยนั้นผมนั่งประชุม มี พล.อ.สุรยุทธ์ (หมายถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) พล.อ.ประวิตร (หมายถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็น รมว.กลาโหม) พล.อ.อนุพงษ์ (หมายถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในสมัยนั้น) นายกฯ สั่งลงไปว่าต้องยุติความรุนแรงทุกชนิด แล้วคดีไหนไม่ชอบมาพากลต้องรีบพิจารณา อันนี้มีเป็นพันคดี
หัวใจหลักเลย คุณอยากสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นต้องยุติความรุนแรง เพราะคุณคงอำนาจรัฐอยู่ คุณถือปืน คุณฆ่าคนให้ถูกกฎหมายได้หมด จริงๆ ไม่ใช่มันถูกนะ แต่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ เพราะนายกฯที่มาจากการรัฐประหาร และตัวเองเคยเป็น ผบ.ทบ.มาก่อน เหมือนอย่างนายกฯสุรยุทธ์ สามารถทำได้ แกริเริ่มเองเกี่ยวกับสันติวิธี มีนโยบายเกี่ยวกับมนุษยธรรม แต่แกอยู่ปีเดียว แล้วก็มาต่อยอดตอนอภิสิทธิ์เข้ามา"
แนะประยุทธ์เลิกใช้อารมณ์
สิ่งที่ ไกรศักดิ์ ยังเป็นห่วงคือท่าทีใช้อารมณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
"โอกาสจากนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯ ถ้าลดอารมณ์โกรธเกลียดคน ด่าว่าคนให้น้อยหน่อย ไม่มีใครเขาจะปฏิเสธท่านหรอก แต่ผู้นำแบบนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้หรือเปล่า เพราะมิติที่มันง่ายๆ คือมิติการสัมพันธ์กับสื่อแค่นี้ท่านยังทำไม่ได้ มันสะท้อนอะไรหลายอย่างออกมา ผู้นำของเราวันนี้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับประเทศที่ค่อนข้างจะเผด็จการ ถึงแม้จะเป็นระบบประชาธิปไตยก็ตาม"