ใต้ร่มพระบารมี...16 ปี ศาลปกครอง
ศาลปกครอง ได้ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ถึงแม้เคยดำริคิดจะก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่ได้สามารถตั้งขึ้นได้ เพราะต่างก็เจอปัญหาอุปสรรค เจอความขัดแย้ง บางครั้งถึงขั้นรุนแรง ความคิดที่จะจัดตั้งศาลปกครองจึงได้ถูกรั้งรอเป็นระยะเวลานาน
เมื่อวันที่ 9 มี.8. 2560 ที่ศาลปกครอง อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเกียรติยศ เรื่อง “ใต้ร่มพระบารมี...16 ปี ศาลปกครอง”
ตอนหนึ่ง ดร.วิษณุ กล่าวถึงความสำคัญของการครบรอบ 16 ปีศาลปกครองว่า ศาลปกครองได้ผ่านพ้นมาเป็นระยะเวลา 16 ปี ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ยังไม่ยาวนานนักสำหรับการสถาปนาหน่วยงาน แต่ 16 ปีนี้ต้องเป็น 16 ปีที่มีความหมายในกระบวนการยุติธรรมแห่งประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็น 16 ปีที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเกิดจากการกระทำโดยเกิดจากการวินิจฉัยและเกิดจากการทำงานของหน่วยงาน ที่เรียกกันว่า “ศาลปกครอง”
การพูดถึงตัวเลขที่มีความหมายเป็นสากล 16 ไม่ได้มีความหมายเป็นสากลอะไร และก็ไม่มีความแตกต่าง แต่ว่าเมื่อเวลามาถึง ก็ควรจะมีการทำอะไรให้ครึกโครมเสียสักครั้งหนึ่งสักอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องความทรงจำของคนกลุ่มหนึ่งบางหมู่บางเหล่า ซึ่งศาลปกครองนั้นได้ก่อตั้งมา 16 ปี ก็เมื่อปีที่แล้วท่านก็ 15 ปี รออีกนิดนึงท่านก็ 17 ปี ตัวเลขอย่างนี้อาจจะไม่ได้มีความหมายกับคนไทยทั่วไป แต่ก็มีความหมายของศาลปกครอง ทุกตัวเลข และทุกปี
"ฉะนั้นเมื่อบัดนี้ครบ 16 ปี และก็อาจจะเป็น 16 ปี ที่มีความหมายพิเศษด้วย เพราะว่า เป็น 16 ปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 9 ศาลปกครองนั้นได้ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 ถึงแม้เคยดำริคิดจะก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ก็ไม่ได้สามารถตั้งขึ้นได้ เพราะต่างก็เจอปัญหาอุปสรรค เจอความขัดแย้ง บางครั้งถึงขั้นรุนแรง ความคิดที่จะจัดตั้งศาลปกครองจึงได้ถูกรั้งรอเป็นระยะเวลานาน"
ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า ถ้าหากค้นคว้าเรื่องเก่าๆย้อนหลัง ก็อาจจะพบว่า ตอนต้นสมัยของรัชกาลที่ 9 นั้นก็ยังเคยมีการรื้อฟื้นความคิด เรื่องการจัดตั้งศาลปกครองออกมาพูดกัน แต่ก็ตั้งไม่ได้ ตั้งไม่สำเร็จด้วยเหตุขัดข้องหลายประการ จนกระทั่งมาสามารถจัดตั้งขึ้นได้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประกาศใช้ตั้งแต่นั้นมา ศาลปกครองก็ได้ทำงานมาเรื่อยจนถึงบัดนี้ปีที่ 16 ก็เลยเกิดความผูกพันระหว่างสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9 พระองค์นั้น บัดนี้แม้จะสิ้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ศาลปกครองก็จะต้องอยู่และเดินหน้าต่อไป ฉะนั้นเราก็ยังจะต้องพูดถึงปีต่อๆไปภายหน้า เพราะถือว่าเป็นเรื่องในอนาคต
ดร.วิษณุ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของศาลปกครอง คือ การพิจารณาคดี ซึ่งคู่กรณีก็คือประชาชนฝ่ายหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ผ่านมายังมีปัญหาคดีตกค้างอยู่ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากคน 2 กลุ่ม เมื่อยืนต่อหน้าศาลปกครอง ซึ่งฝ่ายหนึ่งคือโจทก์หรือประชาชน อีกฝ่ายหนึ่ง คือจำเลยก็คือภาครัฐ
"สิ่งที่เป็นคำถามคาใจของคน 2 กลุ่มนี้ มาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา และก็จะบอกว่า ก็ยังคงเป็นความใหม่ ที่เรายังไม่ชิน เป็นความไม่พร้อมที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ “ศาลปกครองตัดสินแล้วจะมีการบังคับคดีกันอย่างไร” ซึ่งคดีหลายคดีศาลปกครองได้พิจารณาและประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แล้ว แต่ประชาชนก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาให้สมดั่งสิทธิ ยังไม่สามารถคลี่คลายหรือแก้ปัญหาให้สมกับที่มีคำพิพากษาได้ นั่นคือปัญหาเรื่องการบังคับคดี เรื่องเหล่านี้จะมีมูลความจริง หรือไม่มีมูลความจริง จะอธิบายได้ หรือไม่สามารถอธิบายได้นั่น คือเรื่องที่ไม่แปลก แต่ยังคงอยู่ในใจของประชาชนทั้งหลาย"
ดร.วิษณุ กล่าวว่า จากการที่รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงงานในหลายๆ ครั้งทรงใช้หลักเดียวกับศาลปกครองในการปฏิบัติงาน โดยใช้ความเป็นธรรมความยุติธรรมใช้ความสมเหตุสมผล ใช้หลักการไม่ลำเอียงไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่ได้ยึดตามหลักมาตรา หรือกฎหมายใดโดยเป็นการวินิจฉัยตามหลักของความยุติธรรมตรงไปตรงมามีเหตุมีผล จะเห็นทั้งหมดในเวลาที่ท่านทรงงานต่างๆ 16 ปีของศาลปกครองนั้น ถือได้ว่าเป็นสถาบันที่เกิดในรัชกาลนี้และได้สนองพระราชปณิธานของพระองค์ด้วยในการที่จะประสิทธิ์ประสาทความเป็นธรรม ซึ่งในส่วนนี้เราก็รู้กันว่าหลายครั้งหลายคราวที่เมื่อบ้านเมืองเข้าตาจนหรือมีปัญหาก็มีพระราชกระแสผ่านศาล ไม่ศาลยุติธรรมก็ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ศาลรัฐธรรมนูญก็ศาลปกครอง หลายครั้งที่ได้มีส่วนในการแก้ปัญหาของประเทศด้วยเพราะตลอดเวลาในพระราชหฤทัยของพระองค์จะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่กันด้วยอย่างความเป็นธรรมอยู่กันด้วยความสงบอยู่กัน ด้วยความร่มเย็นเมื่อสิ้นรัชกาลไปก็เหลืออย่างเดียวเพียงหน้าที่ของพวกเราที่จะสืบทอดรักษาความร่มเย็นนี้ให้อยู่ต่อไปได้
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตใหม่ๆ หลายคนพูดกันว่า ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป ซึ่งคำว่า “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป” คนพูดคนแรกคือ สุนทรภู่ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ใน “นิราศภูเขาทอง” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอุตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป”
สุนทรภู่เป็นคนแรกที่พูด ซึ่งเป็นคำพูดที่ทุกคนพูดว่า “ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป” นั้นแต่ในความเป็นจริงไม่ต้องรองพระบาททุกชาติไป เอาชาตินี้ก่อน เอาชาตินี้ชาติเดียวก่อน ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสนองพระเดชพระคุณ สนองพระราชปณิธานได้ ในการที่จะรักษาความสงบร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นธรรมให้เกิดแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็น “ข้ารองพระบาททุกชาติไป” ได้อย่างเหมาะสมที่สุดแล้ว