ชาวประมงริมแม่มูล ค้านประกาศ กษ.ห้ามใช้อวนล้อมจับสัตว์น้ำ
ชาวบ้านริมแม่น้ำมูลใน อุบลฯ เปิดเวทีชำแหละประกาศ ก.เกษตรฯ ห้ามใช้อวนจับปลา เหมือนตัดแขนตัดขาและฆ่าชาวประมงริมแม่น้ำทั่วประเทศ
จากกรณีที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนล้อมจับทุกขนาดทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำประเภทที่สาธารณะประโยชน์ตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง อ่างเก็บน้ำ ลำน้ำสาขา หรือในที่สาธารณประโยชน์ในน่านน้ำจืดทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังวันประกาศภายใน 30 วัน ประกาศ ณ วันที่ 6 พ.ค.54) รายการร่วมทุกข์ร่วมสุข โดย สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีระดมความเห็นประเด็น “ผ่าทางตันประมงบ้านบัวท่า”
นายสกุลเทพ หยาดทองคำ สมา อบต.ท่าช้าง ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำมูล กล่าวว่า ชาวบ้านบัวท่าและอีกหลายหมู่บ้านที่ตั้งริมตามริมแม่น้ำมูล ต้องอาศัยการจับปลาในแม่น้ำ เพื่อการยังชีพและสร้างรายได้ให้ครอบครัว เพราะชาวบ้านหลายครอบครัวไม่มีพื้นที่ใช้เพาะปลูก การดำเนินชีวิตที่ผ่านมาหลายร้อยปีจึงหากินอยู่กับแม่น้ำสายนี้ การห้ามชาวบ้านที่เป็นชาวประมงริมแม่น้ำใช้อวนลากจับปลา เท่ากับเป็นการฆ่าชาวบ้านทางอ้อม ทั้งนี้เฉพาะบ้านบัวท่าเพียงหมู่บ้านเดียวมีการทำประมงอวนลากอยู่ 36 ครอบครัว แต่ละครอบครัวต้องมีภาระดูแลลูกหลานพ่อแม่อีกหลายชีวิต การออกประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นได้ตัดแขนตัดขาชาวบ้านไปแล้วครึ่งหนึ่ง จึงเสนอให้หน่วยงานรัฐศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งชาวบ้านเป็นตัวแทนเข้าไปร่วมพิจารณาแก้ไขการออกประกาศ
"การกล่าวว่าการใช้อวนจะจับสัตว์น้ำทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ไปหมดทั้งแม่น้ำก็ ไม่เป็นความจริง ตรงกันข้ามชาวบ้านที่ทำประมงได้กำหนดเขตอนุรักษ์ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์อย่างเด็ดขาด และในฤดูวางไข่นาน 4 เดือน ก็จะไม่มีการทำประมง เพื่อรอให้แม่น้ำได้ฟื้นฟู นอกจากนั้นชาวบ้านบัวท่าเป็นชาวคริสต์ วันอาทิตย์ก็หยุดจับปลาเพื่อเข้าโบสต์ แต่ปัญหาที่แม่น้ำมีปลาลดลงต้องพูดถึงการมีเขื่อนปากมูลด้วย"
ด้านนายนิกร วีสเพ็ญ ตัวแทนภาคประชาสังคม จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการออกประกาศดังกล่าวว่าเป็นเหมือนการให้ยาแอสไพรินให้ชาวบ้านกินครอบคลุมไปทุกหมู่บ้านทั่วทั้งประเทศโดยไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง ของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านว่าเป็นอย่างไร ทั้งที่อีกนโยบายหนึ่งของรัฐก็บอกว่าต้องสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้จากการ ทำกินในการประกอบอาชีพ รัฐเองก็ยังไม่รู้ว่าการใช้อวนลากชาวบ้านได้จับปลาเล็กปลาน้อยไปจากแม่น้ำทั้งหมดจริงหรือไม่ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำ ซึ่งรัฐต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหาการออกประกาศที่ไม่รู้จริงฉบับนี้ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านด้วย
ส่วนนายกิตติพงษ์ ลีลาศสง่างาม ประมงอำเภอวารินชำราบ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ สามารถอนุโลมให้มีการใช้อวนจับปลาได้ตามประกาศของกระทรวง การแก้ปัญหาคือต้องทำเรื่องเสนอไปยังระดับกระทรวง และรู้สึกเห็นใจชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงริมแม่น้ำที่ปรับตัวไม่ทันกับประกาศนี้.
ภาพประกอบ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=161156