ชุมชนป้อมมหากาฬวอนกทม.ขออยู่ในพื้นที่พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ปธ.ชุมชนเตรียมแผนพัฒนาชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เร่งกทม.รื้อบ้านที่ยินยอมให้เสร็จโดยเร็ว ขณะที่กทม.พร้อมร่วมมือส.สถาปนิกสยาม-ทหาร พัฒนาชุมชน เลขาฯผู้ว่ากทม.ยันอนุรักษ์บ้านเก่า แต่หากใครต้องการย้ายออกเพิ่มเติมจะอำนวยความสะดวกให้
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 60 ชุมชนป้อมมหากาฬ เปิดเจรจาร่วมกับ นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. โดยมี พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นคนกลางเจรจา หาแนวทางแก้ปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ ณ ป้อมมหากาฬ
นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ทางชุมชนจะไม่บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ๆถูกรื้อย้ายไปแล้วอย่างแน่นอน แต่จะมีการคิดร่วมกันว่าพื้นที่ดังกล่าวจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่มีเรื่องฝากไปยังกทม.ว่า ให้รื้อถอนบ้านของนางศรีสวาท เล็กวิไล เจ้าของบ้านเลขที่ 95 อย่างเร็วที่สุด เนื่องจกนางศรีสวาทยังอยู่ในชุมชนทั้งที่แจ้งความจำนงว่ายินยอมให้รื้อถอน จึงอยากร้องขอให้ทางกรุงเทพฯ ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่10 มี.ค.ให้เสร็จ
ส่วนเรื่องการอนุรักษ์บ้านเก่า นายธวัชชัย ยืนยันว่าต้องมีชีวิตคนอยู่ควบคู่ไปด้วย เพราะในอนาคตได้จัดทำแผนในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ชุมชนป้อมฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ถ้าอนุรักษ์บ้านอย่างเดียวไม่มีคนอยู่อาศัย บ้านก็จะไม่มีค่า การที่มีคนอยู่นั้นเขาจะได้เล่าว่า แต่เดิมนั้นใช้ชีวิตอย่างไร มีประเพณีอะไร และเป็นการสอดรับนโยบายการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯอีกด้วย
นายธวัชชัย กล่าวว่า จากกรณีวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางสถาปนิกสยามฯ ได้ร่วมกับคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์มีมติเห็นชอบให้การอนุรักษ์บ้านโบราณในจำนวนทั้งหมด 24 หลัง โดยในอนาคตจะร่วมมือกับทางกรุงเทพฯ และหน่วยทหารที่จะดำเนินการเชิงบูรณาการเป็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของโครงการประชารัฐ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคง ทั้งนี้ พิพิธพัณฑ์มีชีวิต ได้มีการเสนอไว้ 5 ข้อหลักคือ 1. จะมีการจัดตั้งเวรยาม 2. การดูแลเรื่องของไม้ใบไม้ดอก 3.การดูแลในเรื่องของความสะอาด 4.ร่วมมือกับทางกรุงเทพฯในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว 5. ให้กรุงเทพฯ จัดเก็บค่าที่ดินและเสนอตัวเข้ามาช่วยงานกับกรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะหน้าที่และความรับผิดชอบบนพื้นแผ่นดิน
นายยุทธพันธุ์ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้ได้ตีกรอบเรื่องกระบวนการในการพิสูจน์ สภาพบ้าน อายุบ้าน ความเก่าความเป็นบ้านโบราณ บ้านอนุรักษ์หรือไม่อนุรักษ์ควรจะเก็บไว้หรือไม่ โดยจะยึดเอาบ้าน 24 หลังที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ แนะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกอนุรักษ์ และจะมีคณะทำงานเข้ามาทำงานตรงนี้เพื่อพิจารณาบ้านหลังอื่นๆต่อไป โดยจะทำให้เร็วที่สุด
"กรุงเทพฯยังดำรงในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลอยู่ หากผู้ใดเต็มใจให้รื้อย้ายทางกรุงเทพฯ ก็ยินดีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เหมือนเดิม ส่วนในเรื่องการเก็บรักษาบ้านเก่าต้องพิจารณาว่าจะเก็บไว้กี่หลัง ส่วนการให้ชาวบ้านอยู่ร่วมในชุมชน เพื่อพัฒนานั้น ยังไม่ขอนำไปพิจารณา โดยจะพูดคุยหลังได้ข้อยุติเรื่องเก็บรักษาบ้านก่อน"