คมนาคมเผยรูปแบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบรางไทย
รมว.คมนาคม เผย รูปแบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ICP ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบรางของไทย ซ้ำยังส่งผลดีต่อการใช้เทคโนโลยีจากต่างชาติ เตรียมผลักให้ทุกระบบเชื่อมต่อกันผ่านบัตรใบเดียว
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2560 ที่แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งราง ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีด้านระบบราง จัดประชุมวิชาการและนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 (RISE3) หัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ระบบรางประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายว่าทำอย่างให้ระบบรางเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 5% ในปี 2565 ในเวลาเดียวกันต้นทุนการขนส่งตั้งเป้าลดจาก GDP ให้ลงมาเหลืออย่างน้อย 12% ภายในระยะเวลา 8 ปี เชื่อว่าในระยะสิบปี ความต้องการในเรื่องระบบรางของไทยจะอยู่ที่ 10,000 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับจีน โดยในปีนี้ แผนงานคมนาคม จะมีรถไฟทางคู่อีก 9 โครงการ ระยะทางทั้งสิ้น 1,362 กิโลเมตร
นายอาคม กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาความสามารถในการเดินรถที่ทันสมัยมากขึ้น เราจึงมีความจำเป็นที่จะปรับปรุงรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเพิ่มเติมในเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม ( Industrial Collaboration Program หรือ ICP) ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมชดเชยหรือ Offset Program อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไข ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ที่คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงฯ ดำเนินการ แต่กลับทำให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากมีการดูดซับเทคโนโลยีที่สำคัญจากต่างประเทศ และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และนำไปสู่โอกาสในการผลิตขึ้นส่วนรถไฟฟ้า ในประเทศเพื่อใช้เองได้ในอนาคต
นายอาคม กล่าวถึงการผลิตชิ้นส่วน การประกอบตัวรถ สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือ ระดับการผลิตที่สูง ซึ่งที่ผ่านมานั้น โครงการของทางรถไฟ อนุมัติได้ที่ละนิดที่ละน้อย แต่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ท่านนายกฯก็ต้องการที่จะพัฒนาตรงนี้ใช้เวลาในช่วงส่งเสริมเร่งรัดการพัฒนาระบบราง เราจะเห็นความต้องการทางระบบรางจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือระบบรถ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสต็อก ถึงจะให้ความมั่นใจในการบริการได้
“หากคำนึงตรงนี้ ในขนาดความต้องการนี้ เชื่อว่าน่าจะเพียงพอ ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ร่วมมือ ร่วมลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ทำอย่างไรประเทศเราจะได้ประโยชน์ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมากที่สุด” รมว.คมนาคม กล่าว และว่า ประโยชน์ที่จะได้คือสองทาง ประการแรก คือเราเปลี่ยนความคิดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จากเดิมเน้นที่โครงสร้างพื้นฐานแต่การใช้ประโยชน์ต่อเนื่องไม่มี ทั้งเชิงธุรกิจและพาณิชย์ การพัฒนาสองข้างทางในลักษณะธุรกิจให้มากขึ้น ก็จะต่อยอดได้ เช่นรถไฟความเร็วสูงจากพัฒนาแต่รถไฟไม่พัฒนาเมือง หรือสร้างธุรกิจตามเส้นทางที่รถไฟผ่าน ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังย้อนกลับไปสู่จุดเดิมที่ว่า สร้างทางเสร็จให้รถวิ่ง นั่นคือในส่วนการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน
ประการที่สอง นายอาคม กล่าวว่า คือ มูลค่าเพิ่ม Value added จากเครือข่ายธุรกิจ supply chain ซึ่งสำคัญมาก นั่นคือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เชื่อว่าในขั้นแรกสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าเราจะเข้าไปจับมือกับเจ้าของเทคโนโลยีอย่างไร ต้องมีผู้ผลิต นั่นคือเอกชน สองคือผู้ใช้ กระทรวงคมนาคมจะต้องกำหนดว่าความต้องการว่า เราต้องการรถประเภทไหน
สำหรับประเด็นเรื่องที่คนทั่วไปมักพูดว่าหน่วยงานที่พัฒนาระบบรางนั้นต่างคนต่างทำ นายอาคม กล่าวว่า ไม่ได้ต่างคนต่างทำ แม้ว่าถึงเวลาอาจแยกไปทำ แต่เวลาคิดเราคิดร่วมกัน การคิดร่วมกันคือ การเชื่อมโยง นายกฯบอกว่าในแต่ระบบต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ คือประการแรกเชื่อมภายในระบบรถไฟฟ้า ที่แบ่งเป็น 4 ส่วน 1) รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ การเดินทางในตัวเมือง 2)รถไฟฟ้าชานเมือง 3) รถไฟระหว่างเมือง (Inter city) 4)รถไฟระหว่างประเทศ ดังนั้นการเชื่อมโยงภายในระบบรางต้องเชื่อมต่อได้
“วันนี้เราพยายามผลักดันในสถานีกลางบางซื่อเป็น Terminal Station เป็นศูนย์กลางของระบบรางทั้งหมดในประเทศ เชื่อมเข้ากับระบบอื่นๆ คือ ระบบรถเมล์ รถเมล์ยังจำเป็นเพราะอาณาเขตกรุงเทพฯค่อนข้างใหญ่ รถไฟฟ้าไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกตารางเมตร ต้องอาศัยรถเมล์หรือรถประเภทอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาต่อเชื่อม นอกจากนี้ยังมีระบบเรือ ทางน้ำ ซึ่งมีตัวอย่างริมเจ้าพระยาที่พัฒนาท่าเรือให้เชื่อมต่อรถไฟฟ้า"
นายอาคม กล่าวถึงการเชื่อมต่อ หรือ connectivity ด้วยว่า ต้องคิดร่วมกัน นโยบายกระทรวงฯคือ one transport นั่นคือการเดินทางครั้งเดียวเชื่อมทุกอย่างไม่ต้องออกจากระบบ บัตรหนึ่งใบใช้ได้ทุกการเดินทาง นั่นคือสิ่งที่เราคิดร่วมกัน 1)เรามี User คือผู้ใช้ที่มีความต้องการ 2)เราต้องมีผู้ผลิต 3)ต้องมีงานวิจัย ภาควิชาการต้องเข้ามาสนับสนุน เชื่อมโยงกับมาตรฐานและการทดสอบ ซึ่งต้องการกลงทุน รัฐบาลต้องกล้าทุ่มเงินเป็นจำนวนมากในการพัฒนาทั้งหมดนี้