สอบได้แค่ยุคแม้ว! ป.ป.ช.จ่อตั้งองค์คณะฯคดีสินบนโรลส์รอยซ์-‘นักการเมือง’เอี่ยว
ปธ.ป.ป.ช. เผยคดีสินบน ‘โรลส์รอยซ์-การบินไทย’ สอบได้แค่ยุค ‘ทักษิณ’ ปี’47-48 ระบุมี ‘นักการเมือง-บิ๊กองค์กร’ เอี่ยว ส่วนที่เหลือหมดอายุความ ให้ ปปง. ดำเนินการทางแพ่ง จับตาตั้งองค์คณะไต่สวน 9 มี.ค. นี้
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ว่า ในวันที่ 9 มี.ค. 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาว่า ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯหรือไม่ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน เนื่องจากเป็นคดีระดับชาติ แต่ต้องดูรายงานความคืบหน้า และพิจารณาตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อน เบื้องต้นพอจะทราบผู้กระทำความผิดแล้ว อย่างไรก็ดีในการติดสินบนทั้ง 3 ช่วงเวลา (กรณีบริษัท การบินไทยฯ) นั้น ในปี 2547-2548 เป็นเวลาที่ ป.ป.ช. ยังมีอำนาจไต่สวนอยู่ โดยมีทั้งนักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร และบุคลากร เกี่ยวข้อง ส่วนในระยะที่ 1 (ปี 2534-2535) และที่ 2 (ปี 2535-2540) หมดอายุความไปแล้ว แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยังมีอำนาจที่จะพิจารณาทางแพ่ง เพราะ ป.ป.ช. และ ปปง. ทำงานร่วมกัน
เมื่อถามว่า ผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และอาจเป็นที่จับตามองของประชาชนจะเกิดความกดดันหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า รอดูในวันที่ 9 มี.ค. 2560 ว่า จะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งองค์คณะไต่สวนหรือไม่ แต่ย้ำว่าภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมฯญ ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากกระบวนการของ ป.ป.ช. ไม่เหมือนกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีการควบคุมตัว ดังนั้นอาจกระทบสิทธิ์บ้าง แต่ไม่ร้ายแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตสหราชอาณาจักร (SFO) ระบุการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในช่วงที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 รวมวงเงินประมาณ 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 254 ล้านบาท)
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวเทียบตามสำนวน SFO สรุปได้ว่า กรณีนี้เริ่มมีการหารือตั้งแต่ปลายปี 2539 แต่เริ่มดำเนินการจริงประมาณ 2547 โดยบอร์ดการบินไทย เตรียมจัดซื้อเครื่องบิน B777 และเครื่องยนต์ T-800 พร้อมอะไหล่สำรอง T-800 (สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ช่วงระหว่างปี 2547 มีนายทนง พิทยะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดการบินไทย นายกนก อภิรดี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย)
ต่อมาในเดือน พ.ย. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายค่านายหน้าเพิ่มเติม และมีการนัดประชุมระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย และเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลไทย กระทั่งปลายเดือน พ.ย. 2547 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (2) มีมติอนุมัติจัดซื้อตามข้อเสนอของการบินไทย ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2547 มีการนัดกินข้าวกันระหว่างนายหน้า เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการรายหนึ่ง กระทั่งเดือน ม.ค. 2548-มิ.ย. 2549 บริษัท การบินไทยฯ มีมติจัดซื้ออะไหล่สำรอง และลงมติรับรองการจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800
อ่านประกอบ :
จ่อแจ้งข้อหาคดีสินบนโรลส์รอยซ์ช่วง 1-2! ป.ป.ช.มอบอัยการขอข้อมูลทางการ
หวั่นถูกเปิดเผย! SFO-ยธ.สหรัฐฯยังไม่ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.คดีสินบนโรลส์รอยซ์
ป.ป.ช ตั้งคณะ กก.เร่งรัดคดีสินบนข้ามชาติ-สั่งลุยหาข้อมูลกรณีไบโอ-ราด
ขมวด 11 คดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ ยังไม่ถึงไหน-วัดฝีมือองค์กรตรวจสอบไทย?