รัฐบาลปัดข้อเรียกร้องใช้ ม.44 ดับไฟใต้
กระแสเรียกร้องให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเร่งจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงมาลงโทษ หลังมีเหตุโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นกระทั่งเด็กและผู้หญิง ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่ามาตรการตามกฎหมายพิเศษหลายฉบับที่ใช้อยู่ เพียงพอแล้วต่อการแก้ไขปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.60 ถึงข้อเรียกร้องของเครือข่าวชาวพุทธชายแดนใต้ ที่ให้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แก้ปัญหาว่า ขอให้ดูว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง หรือว่าไม่เข้าใจ บางคนบอกว่ารัฐบาลใช้มาตรา 44 มากเกินไปจนไม่เกิดประโยชน์ แต่เมื่อกฎหมายปกติใช้ไม่ได้ ไม่มีใครเคารพนับถือ ก็ต้องใช้กฎหมายพิเศษ
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 อีก ซึ่งมาตรา 44 เบากว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะสามารถยกเว้นหรือยกเลิกได้ สามารถทำในรูปแบบของเบาหรือหนักก็ได้ ดังนั้นขอให้เข้าใจ
"รัฐบาลได้ทำความเข้าใจในเรื่องที่เครือข่ายชาวพุทธ 3 จังหวัดเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาไปแล้ว ผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ทุกอย่างยุติลงแล้ว แต่ก่อนหน้านี้มีคนไปยุ ซึ่งวันนี้มีหลายพวกไปกระทุ้งตรงโน้นตรงนี้ ขอให้สื่อไปหามาให้ด้วยว่าเป็นใคร แล้วจะให้สองศาสนาเกิดความขัดแย้งได้อย่างไร ไม่คิดว่าจะมีใครมาแทรกแซงหรือ ที่ผ่านมาโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) เข้าใจดีว่าต้องแก้ไขปัญหาในประเทศให้ได้ก่อน โดยโอไอซีได้ติดตามและเห็นความก้าวหน้าตามลำดับ มีแต่คนไทยด้วยกันที่พยายามจะไล่กันไปไล่กันมาจนมีเรื่อง" นายกฯระบุ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเรื่องเดียวกันว่า ในพื้นที่มีกฎอัยการศึกอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร แต่สถานการณ์ความรุนแรงบางครั้งก็เป็นงานด้านความมั่นคง บางครั้งก็ไม่ใช่ ปะปนกันไป บางครั้งก็เกี่ยวกับเรื่องการเมืองท้องถิ่นด้วย ขณะนี้กำลังสอบสวนอยู่ว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมย้ำว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา ไม่เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะมีการออกมาระบุแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การดำเนินการของกลุ่มมารา ปาตานี
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีเหตุรุนแรงรายวันเกิดขึ้นประปราย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มี.ค.60 คนร้าย 4 คนมีรถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนยิง นายตุรกีร์ มาดิโมง อายุ 42 ปี อาสารักษาดินแดน (อส.) อ.รามัน จ.ยะลา กระสุนเจาะเข้าที่บริเวณศีรษะและลำตัว ทำให้เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดขณะที่ นายตุรกีร์ กำลังยืนตักน้ำแข็งอยู่ที่หน้าบ้านของตนเองใน ต.บือมัง อ.รามัน ซึ่งเปิดเป็นร้านขายของชำ เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหาร
วันศุกร์ที่ 3 มี.ค. คนร้ายไม่ทราบจำนวนซุ่มอยู่ในป่ายางพาราข้างทาง ริมถนนสายสุคิริน-ดุซงยอ ท้องที่ ต.เกียร์ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่ชุดคุ้มครองตำบลร่มไทร ซึ่งเป็น อส.ของ อ.สุคิริน ขณะขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันมา หลังเสร็จธุระที่ที่ว่าการอำเภอสุคิริน กำลังมุ่งหน้ากลับฐาน ชคต.ร่มไทร ซึ่งอยู่ใน อ.สุคิริน เช่นกัน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ อส.เสียชีวิต 1 นาย คือ อส.อาบุบากา สาแล๊ะ อายุ 50 ปี และได้รับบาดเจ็บ 1 นาย คือ อส.ฟุรกร แวยูโซ๊ะ อายุ 29 ปี
วันพุธที่ 1 มี.ค. เวลา 20.45 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง ด.ต.มะรอพี บาดง อายุ 47 ปี ตำรวจชุดมวลชนสัมพันธ์ สภ.เมืองยะลา เหตุเกิดขณะกำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน โดยใช้เส้นทางในหมู่บ้านเบญญา ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา ทำให้ ด.ต.มะรอพี ได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นยังไม่สรุปสาเหตุการลอบยิง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพนายกฯจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย