สารพัดปัญหาเยียวยา...เคาะตัวเลขแล้วใช่ว่าจะจบ
เรื่องเงินเยียวยาเริ่มปรากฏปัญหาตามที่หลายฝ่ายเคยเตือน ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง หรือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม
ต้นตอของปัญหาก็คือการประกาศตัวเลขเม็ดเงิน 7.5 ล้านบาทออกมาก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่มี "หลักเกณฑ์การจ่าย" อย่างชัดเจนและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ส่วนตัวผมมองว่าการเยียวยาเหยื่อชุมนุมทางการเมืองอาจมีปัญหาน้อยกว่ากรณีเหยื่อไฟใต้ เพราะผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนหรือส่วนใหญ่ยังมีเครือข่ายยึดโยงกับฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง และจำนวนผู้สูญเสียก็มีไม่มากเท่า (กรณีเสียชีวิต) จึงน่าจะพอทำความเข้าใจกันได้ผ่านเครือข่ายทางการเมืองระดับต่างๆ
แต่สำหรับ "เหยื่อไฟใต้" เฉพาะผู้เสียชีวิตก็มากมายกว่า 5 พันศพแล้ว หนำซ้ำยังมีหลากกลุ่มหลายอาชีพ ทั้งชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านที่ช่วยงานรัฐ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ครู รวมไปถึงสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนาทางพุทธและอิสลาม
ที่สำคัญการจ่ายเยียวยาเหยื่อความรุนแรงทางการเมือง เป็นการจ่ายย้อนหลังในเหตุการณ์ที่จบไปแล้ว แต่ปัญหาความไม่สงบที่ชายแดนใต้ยังคงดำรงอยู่ และผู้ได้รับผลกระทบก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุมเป็นอย่างยิ่ง
การประชุมคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นประธานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้จะเคาะตัวเลขกลมๆ ได้แล้วรายละ 7.5 ล้าน แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาระลอกใหม่
เอาแค่ประเด็นง่ายๆ ถึงวันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ทราบหรือยังว่าตัวเลข 7.5 ล้านบาทนั้นคือ "เพดานสูงสุด" ไม่ใช่ทุกคนได้ 7.5 ล้าน ซ้ำยังต้องถูกหักสำหรับรายที่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามหลักเกณฑ์อื่นไปแล้วด้วย
ฉะนั้นเชื่อได้เลยว่าเกือบทุกกรณีที่ชายแดนใต้ ญาติผู้สูญเสียเกือบทุกรายจะไม่ได้รับเงินเยียวยาเต็ม 7.5 ล้าน ปัญหาก็คือเมื่อถึงเวลาจ่ายจริงจะมีคำถามเรื่อง "สองมาตรฐาน" หรือไม่ เพราะตลอดเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีแต่การพูดกันถึงตัวเลข 7.5 ล้านซ้ำไปซ้ำมา
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่หลุดจากวงประชุมว่า กรรมการและอนุกรรมการหลายรายยังมีไอเดียอีกมากมายเกี่ยวกับ "เงินเยียวยา" เช่น ผู้นำศาสนาบางคนเสนอให้ "หัก" เงินเยียวยาบางส่วนตั้งเป็น "กองทุน" เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน
แม้เหตุผลฟังดูดี แต่เท่าที่เช็คกระแสจากชาวบ้าน...ไม่มีใครเอาด้วย!
นอกจากนั้นยังมีกรณี "คนหาย" ซึ่งตัวเลขจากฝ่ายประชาสังคมที่เสนอต่อวงประชุมยังไม่ตรงกัน ตัวเลขทางการที่ยอมรับคือ 34 รายบวกลบไม่เกิน 2 แต่บางฝ่ายเสนอตัวเลขถึง 56 ราย จนเกรงกันว่าจะรวมพวกที่ "หาย" เพราะหลบหนีคดีด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันยังมีหลักเกณฑ์เยียวยาตามระเบียบและประกาศของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และตีกรอบเฉพาะกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ (ตามกฎหมาย ศอ.บต.มาตรา 9 วงเล็บ 7) ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งระบุให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ถูกควบคุมตัว หรือผู้ถูกคุมขังตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ผู้นั้นไม่มีความผิด เป็นการเยียวยาด้านจิตใจรายละ 3 หมื่นบาท และค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวในอัตราวันละ 400 บาท
ประเด็นนี้ฝ่ายทหารวิจารณ์กันมาก เพราะการ "เชิญตัว" หรือ "ควบคุมตัว" ตามกฎอัยการศึก และโดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ตามกฎหมายไม่ได้หมายถึงการคุมตัวผู้กระทำผิด แต่เป็นการคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูล เพื่อแก้ปัญหา "พยาน" ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
ฉะนั้นหลักเกณฑ์ลักษณะนี้ย่อมเท่ากับเป็นการกำหนดให้จ่ายเยียวยาผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทุกกรณีนั่นเอง!
ฝ่ายความมั่นคงประเมินกันถึงขนาดว่า นี่คือการกดดันให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางอ้อมหรือเปล่า?
นอกจากนั้นในประกาศ กพต.ฉบับเดียวกัน ยังให้จ่ายค่าช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขังตาม ป.วิอาญา ซึ่งต่อมาปรากฏว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง โดยให้จ่ายเงินค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกควบคุมตัวในอัตราวันละ 400 บาทด้วย
ประเด็นนี้มีเสียงจากนักสิทธิมนุษยชนบางรายว่า หากมองในมุมผู้เสียหาย ผู้ที่ศาลพิพากษายกฟ้องอาจเป็นผู้กระทำผิดตัวจริงก็ได้ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิด หรือศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึ่งตามกฎหมายปกติ (พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544) กรณีเช่นนี้จะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา แต่หลักเกณฑ์ใหม่ก้าวข้ามมาตรฐานนี้ไป แล้วฝ่ายผู้เสียหายจะรู้สึกอย่างไรที่เห็นคนที่เขาคิดว่าเป็น "คนร้ายตัวจริง" รอดคุก แถมยังได้รับเงินเยียวยาจากรัฐอีกด้วย...
ฉะนั้นการเยียวยาจึงไม่จบแค่การเคาะตัวเลขอย่างแน่นอน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 ก.พ.2555 ด้วย