เปิดใจผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
"การต่อสู้ที่เปิดทางให้ผู้หญิงในประเทศไทยมีเสรีภาพด้านการบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ ต้องให้การศึกษากับสังคมไทย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง"
เมื่อเร็วๆ นี้ อนุกรรมการด้านสิทธิสตรี ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดงานเชิดชูเกียรติ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากล 2560 (อ่านประกอบ:อังคณา ชี้การต่อสู้ปกป้องมนุษยชน ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญ กลับถูกสังคมเลือกปฏิบัติ)
ภิกษุณีธัมมนันทาเถรี หรือหลวงแม่ แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้หญิง อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ผู้บุกเบิกเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ให้แก่สังคมไทย และทำให้เมืองไทยมี “พุทธบริษัท 4” ครบ ถือเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้รับการบวชในสายเถรวาท ก่อนที่จะได้รับการอุปสมบทในปี 2546 ในประเทศศรีลังกา
ภิกษุณีธัมมนันทา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการต่อสู้เพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงในประเทศไทยคนอื่นๆ มีสิทธิและเสรีภาด้านการบวชในพระพุทธศาสนาว่า ก่อนอื่น การบวชของผู้หญิงนั้นต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า พระพุทธเจ้าให้บวช เพราะการบวชของผู้หญิงเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ แต่เนื่องจากไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยก็เลยไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับคนไทยใหม่ว่า ผู้หญิงสามารถบวชได้โดยจะต้องมีการอ้างว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ พระพุทธเจ้าตั้งใจจะให้มี พุทธบริษัท 4 มีภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งคนที่จะบวชให้ผู้หญิงนั้น คือ พระภิกษุณีสงฆ์
“หากไปติดใจว่า ไม่ได้ ต้องให้ภิกษุณีสงฆ์บวชก่อน ซึ่งจริงๆแล้วถ้าภิกษุสงฆ์บวชให้ ฝั่งของภิกษุณีสงฆ์ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้สอบถามความยากลำบากที่เรียกว่า อันตรายิกธรรม เท่านั้น หากมีความบริสุทธิ์ในภิกษุณีสงฆ์ ก็สามารถที่จะบวชได้โดยภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”
หลวงแม่ กล่าวต่อว่า จากการต่อสู้ที่เปิดทางให้ผู้หญิงในประเทศไทยมีเสรีภาพด้านการบวชในพระพุทธศาสนานั้น มองว่า ไม่ใช่เป็นการต่อสู้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ ต้องให้การศึกษากับสังคมไทย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง
พร้อมกันนี้ หลวงแม่ ยังมองว่าปัญหาและอุปสรรคคือความไม่เข้าใจกัน ทำให้ “ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิง” ซึ่งต้องย้อนกลับไปว่า จุดความคิดเดิมที่เก่ากว่านั้น คือพระพุทธเจ้ามีความประสงค์ให้ภิกษุณีสงฆ์บวช
“ช่วงที่บวชกลับมาใหม่จะโดนโจมตีอย่างมาก แต่เราก็ไม่หวั่นไหวยึดเพียงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเรามั่นคงในธรรมะ ธรรมะก็จะรักษาเราได้”
ด้าน “ณัฐพร อาจหาญ” หญิงสาวลูกอีสาน นักปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง และสิทธิการเมือง กล่าวว่า การทีตัดสินใจทิ้งหน้าที่การงานในฐานะสื่อ และผันตัวมาร่วมกับชาวบ้านในการปกป้องสิทธิชุมชน เห็นว่าเป็นจังหวะที่ดีและได้มีโอกาสช่วยพี่น้องชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมที่ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึงปัญหาในลักษณะเดียวกันที่บ้านนามูล-ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเธอได้ร่วมเคลื่อนไหวให้ชาวบ้านออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเอง ต่อสู้กับบริษัทเอกชนที่พยายามเข้ามาขุดสำรวจก๊าซธรรมชาติในพื้นที่
นี่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ หญิงสาวลูกอีสานคนนี้ อยากเข้ามาช่วยทำงานในด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้
ณัฐพร เล่าถึงการทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน พบว่า ประชาชนมีข้อจำกัดในด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งกว่าจะผ่านปัญหาเหล่านี้ก็ค่อนข้างยาก พอมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ข้อจำกัดก็เริ่มมากขึ้น ปัญหาของผู้มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง จึงได้ใช้ความรู้ในด้านสื่อมาสนับสนุนอีกทาง และกลไกในการกระจายข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ
เมื่อถาม คิดอย่างไรการเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องมาต่อสู้เพื่อเรื่องใหญ่ๆ ที่ท้าทายอำนาจรัฐ อำนาจทุนเช่นนี้ เธอเห็นว่า ความเป็นผู้หญิงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ช่วยลดท่าทีความรุนแรงของการต่อสู้ ทั้งการพูดคุย การเผชิญหน้า นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีความมุ่งมั่น อดทนกับการต่อสู้ ส่วนข้อเสียคือ เราเป็นผู้หญิงในวงการก็ต้องถูกมอง แถมยังมีอายุน้อยและยิ่งเป็นผู้หญิงด้วย ก็ต้องใช้ความพยามยามมากกับการออกมาต่อสู้ เพราะมีเรื่องความน่าเชื่อถือ แถมยังมีอคติเล็กๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่า เราจริงใจ แน่วแน่ ทุ่มเท เราไม่ใช่เข้ามาเพื่อผ่านๆ
“ ในทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะในระดับท้องถิ่น แต่ยังสะท้อนปัญหาชาวบ้านไปสู่ระดับชาติ และระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอปัญหาของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกระหว่างประเทศอีกด้วย”