เลขาธิการ กกอ.ชี้ตั้งกก.เข้าควบคุม 4 ม.รัฐ พบปัญหา"คุณวุฒิ-คุณภาพ" อาจารย์มากสุด
เลขาธิการกกอ. สั่งเข้มตรวจสอบหลักสูตรในแต่ละมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ย้ำชัดหากพบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะทำหนังสือให้มาชี้แจง แก้ไขหลักสูตรให้ถูกต้อง พร้อมฝากเรื่องใหญ่อยู่ที่ความตั้งใจของผู้บริหาร สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี ที่ต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงหลักสูตรปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่สภามหาวิทยาลัยบูรพาตรวจสอบพบว่า บางหลักสูตรนั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานว่า มาตรฐานของม.บูรพาทำได้แค่ปริญญาโทเท่านั้น และเป็นแค่ภาคนิพนธ์ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ โดยคาดว่าตอนนี้นายอานนท์ เที่ยงตรง ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ววิธีการตรวจสอบคือต้องตรวจจาก ปริญญาเอกไล่ลงมาปริญญาตรี จึงจะสามารถนับจำนวนอาจารย์ และตรวจสอบคุณสมบัติของอาจารย์ได้ สามารถนับผลงานได้
"ถ้าอาจารย์คุณสมบัติไม่ถึงก็ต้องหาอาจารย์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามกำหนดเข้ามาเป็นอาจารย์เพิ่มให้ครบ ที่ผ่านมาก็เคยมึกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอีสาน ที่เปิดสอน ปริญญาโท แต่ต้องปิดไป เพราะอาจารย์คุณสมบัติไม่พอ และนักศึกษามีเกินจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่"
ดร.สุภัทร กล่าวถึงการมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีงานวิจัยอย่างน้อย 3 ชิ้นในช่วง 5 ปี ถ้าไม่มีงานวิจัยแล้วทำไมยังมาเป็นอาจารย์สอนได้อย่างไร ตอนนี้สถานการณ์อาจารย์ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ยังขาดแคลน ซึ่งเรื่องนี้อธิการบดีและคณบดีต้องเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนที่จะรับอาจารย์เข้ามาสอน
"สิ่งที่อยากเห็นตอนนี้คือความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัย อยากให้สภามหาวิทยาลัยเข้มแข็ง ตรวจสอบในระบบบริหารและจัดการระบบบริหารให้ราบรื่น แต่ตอนนี้เรื่องเงินก็ยังไม่ราบรื่นในแต่ละมหาวิทยาลัยเพราะมีระบบเส้นสายเข้ามาเยอะ เอาอาจารย์ที่เป็นญาติเข้ามาสอนและเซ็นสัญญาระยะยาว 5 ปี บางเดือนมหาวิทยาลัยมีเงินเหลือใช้แค่ 2 ล้านบาท นั้นหมายถึงคุณนำอื่นคนเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ เห็นมหวิทยาลัยเป็นแห่งสูบเงินอย่างถูกกฎหมาย"
ดร.สุภัทร กล่าวว่า ตอนนี้ทางสกอ.ได้มีการตั้งกรรมการมาควบคุม 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ม.บูรพา ม.ราชภัฏสุรินทร์และ ม.ราชภัฏ ชัยภูมิ ซึ่งปัญหาตอนที่ตรวจพบมากที่สุด คือ เรื่องคุณวุฒิ คุณภาพอาจารย์ 1.ไม่ตรงตามที่เกณฑ์มาตรฐาน 2.จำนวนอาจารย์ไม่ครบตามเกณฑ์ เป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้ 3.คุณวุฒิไม่ตรง เช่น จะเปิดหลักสูตรนิติศาสตร์สัดส่วนอาจารย์ 5 คนควรจะจบด้านนี้โดยตรงสัก 3-4 คน ส่วนสายที่เกี่ยวพันก็ได้สักคนสองคน ขณะที่คุณวุฒิอาจารย์ เกณฑ์ระบุว่า 2 ใน 5 คนอย่างน้อยต้องจบปริญญาโท หรือเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และอีกอย่างที่สกอ.กำลังจะทำคือการกำกับหลักสูตร
"ตอนนี้เริ่มแล้วที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยทำการหยุดรับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก และจะแบ่งให้อาจารย์มาสอนที่ปริญญาตรี นี่คือความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยที่อยากเห็น"
ดร.สุภัทร กล่าวอีกว่า การที่สกอ.ไปตรวจสอบหลักสูตรในแต่ละมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หากพบยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็จะทำหนังสือเพื่อให้โอกาสมาชี้แจง แก้ไขหลักสูตรให้ถูกต้องต่อไปขณะเดียวกันความตั้งใจของผู้บริหาร ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อให้นักศึกษาได้รับบริการอย่างถูกต้อง ต้องมีการลงทุนไม่น้อย เพราะถ้าผู้บริหารอย่างสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณบดี ไม่มีใจที่จะดูแลหลักสูตร คนที่จะรับผลนี้ก็คือนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ กี่ชีวิตที่ต้องเดือดร้อน บางคนต้องลงเรียนใหม่หมดทั้งๆที่กำลังจะจบ
"นักศึกษาเหล่านั้นเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย แต่ต้องมาเดือดร้อนเพราะผู้บริหารปล่อยปละละเลย ผมตั้งคำถามว่า เบี้ยประชุมกรรมการ 3 พันบาท บางมหาวิทยาลัยมีคณะกรรมการ 63 คนครั้งหนึ่งใช้จ่ายเท่าไหร่ สิ่งที่ควรจะละอายคือสภามหาวิทยาลัย
และเมื่อถามถึงกรณีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กำลังเปิดหลักสูตรคณะแพทย์ อินเตอร์ ดร.สุภัทร กล่าวว่า เขาทำตามเกณฑ์ อย่างแรกแพทย์ศาสตร์อาจารย์ต้อง 1 ต่อ 4 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการทางสจล.ได้โรงพยาบาลคู่ค้า ซึ่งมีเตียงใหญ่กว่า 400 เตียง หลักสูตรที่เปิดจะเป็นแพทย์อินเตอร์ค่าเรียนจะแพงมากเพราะไม่ได้เปิดเฉพาะคนไทยอย่างเดียว เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเด็กอินเตอร์สามารถเข้ามาเรียนได้
"ผมเคยคุยกับคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ของสจล. ซึ่งท่านเคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมีอาจารย์อาวุโสเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการสอนก็จะสามารถช่วยได้"
อนึ่ง กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ต้องขออภัยที่เกิดความผิดพลาดในการนำเสนอข่าว มีการระบุชื่อ มอ.ปัตตานีว่า เป็น 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยที่ถูกคำสั่ง ม.44 ควบคุม และเมื่อทราบว่า เกิดความผิดพลาดขึ้น ทางกองบรรณาธิการได้แก้ไขข่าวให้ถูกต้องในทันทีแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดร.สุภัทร เผยเรื่องร้องเรียนปี' 59 มี 98 หลักสูตรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน