ม.ร.ว.ดิศนัดดา กระตุ้นให้สื่อเห็นความทุกข์ยาก-เหลื่อมล้ำของสังคม
ผมขอเสนอให้สื่อควรเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความเหลื่อมล้ำ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการหาแนวทางแก้ไขด้วยการสื่อสารออกไปให้กว้างขว้างที่สุดและอย่างต่อเนื่องและในไม่ช้าสังคมก็จะดีขึ้น อยากจะขอร้องทางสื่อมวลชนไม่ใช่เห็นแต่เงินเป็นพระเจ้าแต่ต้องเห็นว่า คุณธรรมอยู่ที่ไหนด้วย
วันที่ 5 มี.ค 60 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 62 ปี ภายในงานมีการปาฐกถาหัวข้อสื่อมวลชนกับสืบสานพระราชปณิธานในหลวงร.9 ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท ประตูน้ำ
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ปาฐกถาหัวข้อ สื่อมวลชนกับการสืบสานพระราชปณิธาณ "ในหลวง ร.9" ถึงการทรงราชของรัชกาลที่ 9 ทรงทุกข์ยากอย่างมหาศาล เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ของการสวรรคคตของรัชกาลที่ 8 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อจากนั้นยังเกิดน้ำท่วมใหญ่และโรคระบาด
"ตอนนั้นบ้านเมืองกำลังทรุดโทรมอย่างหนัก ในตอนที่ท่านทรงครองราชย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกนี้ส่วนใหญ่แต่เพียงแค่สัญลักษณ์ แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อร.9 ทรงราชย์แล้วก็ไม่ได้ทรงพระเกษมสำราญตามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น พระองค์ต้องมาร่วมช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ "
จนมีพระราชดำรัสว่า "การเป็นกษัตริย์นั้นถ้าทำให้ประชาชนมีความสุขไม่ได้ นับเป็นความล้มเหลว"
พูดถึงปัจจุบันได้ยินเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและยืนบนจุดแข็งของตนเอง เช่น อุตสาหกรรม เกษตร นวัตกรรม และบริการ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ไทยแลนด์1.0 ถึง 3.0 ซึ่งเป็นช่วงส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและการส่ง และเมื่อประเทศมุ่งสู่อุตสาหกรรมพระองค์ท่านก็ยังเตือนสติคนไทยยึดการทำเกษตรไว้ให้มั่นคง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาจึงเป็นแหล่งรวบรวมของข้าราชการทุกคนทั้งด้านการเกษตร สังคม สิ่งแวดล้อม
พระองค์ทรงเห็นว่าเกษตรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดังนั้นต้องทำให้ดีขึ้น โดยใช้หลักวิชาการภูมิปัญญาชาวบ้านต้องทำแบบบูรณาการ ต้องทำงานแบบร่วมกันโดยเอาปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง
เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้อิทธิพลของโลกออนไลน์รุนแรงเกินกว่าใครจะยับยั้ง ส่งผลให้สังคมเป็นสังคมออนดีมานมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือขอให้ได้ดั่งใจตัวเองถือว่าถูกต้อง ทำให้ประเทศไทยสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงและกลายเป็นรากฐานของความทุกข์ยากกว่าเดิม เช่น โอกาสการศึกษาน้อยลง รายได้ต่ำ ส่งผลให้ประเทศไทยมีหนี้สิน กว่า 80 % ของจีดีพี ต่างชาติก็ลงทุนลดลงเพราะการศึกษาไทยตั้งแต่เด็กจนโตไม่ตอบโจทย์และการศึกษามีไว้
"ทำไมถ้ามันไม่ตอบโจทย์ ถามว่าเด็กจบมาก่อนจะไปเรียนหนังสือก็ต้องไปกู้เงินมาเป็นหนี้และเพื่อเอาไปเรียนหนังสือจบมาก็ไม่มีงานทำเพราะเรียนมาแล้วทำงานไม่ได้ ต้องไปเป็นขี้ข้าคนอื่น"
ขณะที่เกษตกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีหนี้สินมากจึงต้องอพยพเข้าเมืองมาหางานทำส่งผลให้ชุมชนแออัดต้องกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ย 20 % ต่อเดือน ส่งผลให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือคนรวยความเหลื่อมล้ำก็ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นต้องทำให้เมืองกับชนบทใกล้เคียงกันมากขึ้น นั่นคือมีงานทำอย่างดีในชนบทสามารถเลี้ยงตัวเองครอบครัวและอยู่ดีกินดีได้ ซึ่งเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยในเมืองและคนจนในชนบทอย่างแท้จริง
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่าด้านสื่อมวลชนในปีที่ผ่านมาต้องปิดกิจการและเลิกจ้างไปแล้วหลายแห่ง โลกออนไลน์ทำให้คนแยกเป็นฝ่ายเป็นกลุ่ม ปัญหาคือแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าสังคมยังไม่มีเอกภาพไม่มีความรู้และเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ในหลวงร.9 ทรงเคยตรัสว่า "เมื่อประชาชนยังเดือดร้อนย่อมไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งพิงคนอื่นและกลายเป็นปัญหาในการทำงานของประชาธิปไตย" นั่นหมายความว่าเมื่อคนจนถูกจำกัดด้วยโอกาสจึงกลายเป็นเหยื่อในการเมืองโดยง่ายเป็นมวลชนของแต่ละฝ่ายและมุ่งแต่จะเอาชนะกันทุกเรื่องทุกท้ายจริงเกิดรัฐประหาร
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะรัฐประหารอีกกี่ครั้งก็กลับมาที่เดิม เพราะมองข้ามรากเหง้าของปัญหาเพราะคนยังยากจนและมีความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างรุนแรง จึงไม่มีอิสระในชีวิตและไม่สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้"
ขอตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า "สื่อมวลชนช่วยสังคมให้เห็นปัญหาและเป็นเวทีให้เกิดการแก้ไขมากน้อยแค่ไหน ได้เสนอข่าวให้แนวคิดเพื่อหาทางออกหรือไม่"
ในหน้าหนังสือพิมพ์มีข่าวความทุกข์ยากของประชาชนมากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีเลย ถ้ามีข่าวความทุกข์ยากแบบสม่ำเสมอคนจะได้รู้ความจริงว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร โอกาสในการแก้ไขให้สำเร็จก็จะมีมากขึ้น
สื่อมวลชนให้พื้นที่มากในเรื่องการเมือง ความขัดแย้ง อาชญกรรม บันเทิง ซึ่งเป็นหน้าที่และพื้นฐานของการทำงาน ซึ่งจะเป็นช่าวได้ต้องสด ใหม่ และน่าตื่นเต้น เพราะพฤติกรรมของคนเป็นเช่นนั้นหรือเราคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น
"ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รัชกาลที่ 9 ทรงแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าที่ควร น่าเสียดายที่เป็นเรื่องร้ายกัดกินประเทศไทยน่าจะเป็นเรื่องหลักที่ให้ทุกคนมาแก้ไขปัญหาร่วมทั้งสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนหมู่มาก
หากสื่อใส่ใจทำและทำอย่างต่อเนื่องย่อมจะเกิดกระแสผลักดันให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืน
เมื่อสื่อต้องการสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต้องการเสรีภาพในการรายงานข่าว แต่หน้าที่ของสื่อที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศหายไปไหน? เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจน ขาดการศึกษาควรหรือไม่ที่สื่อจะมีบทบาทช่วยคนที่ลำบาก ถ้าสื่อมวลชนไม่ช่วย สื่อจะมีค่าแค่เฉพาะรายงานว่าใครพูดอะไร ทะเลาะอะไรกับใคร เท่านั้น
ผมขอเสนอให้สื่อควรเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความเหลื่อมล้ำ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการหาแนวทางแก้ไขด้วยการสื่อสารออกไปให้กว้างขว้างที่สุดและอย่างต่อเนื่องและในไม่ช้าสังคมก็จะดีขึ้น อยากจะขอร้องทางสื่อมวลชนไม่ใช่เห็นแต่เงินเป็นพระเจ้าแต่ต้องเห็นว่าคุณธรรมอยู่ที่ไหนด้วย"