เครือข่ายรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง เรียกร้อง “ค่ารักษาบัตรทองเท่า ขรก.”
“วิทยา” โชว์ 30 บาทรักษาโรคยุคใหม่ หมอใกล้บ้าน-ยาดี-บริการเร็ว เครือข่ายรักหลักประกันสุขภาพ 8 จว.ภาคกลาง ค้านเก็บ 30บ.-เมดิคัลฮับ ผลักดัน พรบ.ผู้เสียหายฯ-เพิ่มค่ารักษาบัตรทองเท่า ขรก.-รัฐวิสาหกิจ
วันที่ 14 ก.พ.55 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ปาฐกถาพิเศษ“ระบบหลักประกันสุขภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ในเวทีประชุมเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 8 จังหวัดภาคกลาง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าในปี 2555 รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่ ให้โดนใจประชาชนและมีประสิทธิภาพขึ้น จะไม่มีการล้มโครงการอย่างแน่นอน โดยจะเน้น 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่
1.มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ 2.มียาดีใช้เพียงพอ 3.ไม่ต้องรอรักษานาน 4.จัดการโรคเรื้อรัง ประชาชนจะมีหมอประจำครอบครัวดูแลสุขภาพถึงบ้านครบทุก 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศภายในปี 2557 ปีแรกจะดำเนินการให้ได้ร้อยละ 60 หรือประมาณ 12 ล้านครัวเรือน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องตรวจสุขภาพและกินยาต่อเนื่อง จะได้รับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน ประชาชนจะได้รับยาดี ทั้งยารักษาโรคทั่วไปและยาที่มีราคาสูงทุกสิทธิไม่แตกต่างกัน และเพิ่มทางเลือกในการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมากขึ้น
สำหรับการให้บริการจะรวดเร็วขึ้น ผู้ป่วยนอกร้อยละ 80 จะได้รับบริการภายในเวลา 2 ชั่วโมง 50 นาที กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับบริการภายใต้นโยบาย 3 เร็ว 2 ดี มีระบบช่องทางพิเศษจัดบริการผู้สูงอายุ พระภิกษุ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ ต้อกระจก จะรอคิวรักษาไม่เกิน 3 เดือน โดย สธ.จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเชื่อมโยงข้อมูลบริการระหว่างสถานพยาบาลเครือข่าย ส่วนการจัดการโรคเรื้อรังร้อยละ 80 ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับการคัดกรองค้นหาเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการจะได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น
ด้านเครือข่ายประชาชนคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก จัดทำข้อเสนอประเด็นพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการเก็บเงินสมทบ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.ให้ดำเนินการให้ระบบสุขภาพของประเทศมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมกับประชาชนอย่างถ้วนหน้า
3.ให้สนับสนุนผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณา(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเสนอ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วย ลดการฟ้องร้อง ให้คนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกระบบ และขอให้ทบทวนการขยายการเยียวยา มาตรา 41 เพื่อไปคุ้มครองสิทธิอื่นๆ เพราะโรงพยาบาลเอกชนได้ประโยชน์ ควรให้หน่วยบริการเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการนั้นๆ และหากเป็นหน่วยบริการของรัฐ รัฐก็รับภาระแทน
4.ขอให้ทบทวนนโยบายการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพราะขัดต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อ 12 เม.ย.54 รวมทั้งขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นโยบายนี้จะก่อให้เกิดการดึงตัวแพทย์ที่เรียกว่า “สมองไหล” ไปรองรับบริการศูนย์กลางทางการแพทย์มากขึ้น จึงขอให้ทบทวนการใช้เงินสนับสนุนมากถึง 4,000 ล้านบาทเพื่อให้บริการชาวต่างชาติ มากกว่าจะใช้เพื่อรองรับคนไทยทุกคนให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงเป็นธรรม-
5.ขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาล (DRG) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เท่ากับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อความเป็นธรรมต่อหน่วยบริการและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการ.
ที่มาภาพ : http://www.asamedia.org/2011/06/แนวโน้มสุขภาพคนไทยใ/