ขยะทะเลต้องเร่งจัดการ ดร.ธรณ์ ชี้ไมโครพลาสติกภัยร้ายใกล้ตัว หวั่นถูกแบนแบบประมง
ไมโครพลาสติกจากขยะในทะเล ภัยร้ายใกล้ตัว ดร.ธรณ์ ชี้ถ้าไทยไม่เร่งแก้ปัญหา จะโดนนานาชาติแบนไม่ต่างจากเรื่องประมง ด้านนักวิชาการเตือนให้กังวลได้แล้ว เกลือทะเลที่กินทุกวันนี้อาจปนเปื้อนพลาสติก
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2560 ที่ อาคารสถาบัน3 จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯและภาคีวิชาการ จัดเสวนาวิชาการ "วิกฤตขยะบกสู่แพขยะในทะเล จะแก้อย่างไร?”
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงขยะทะเลต่างกับขยะปกติ เพราะขยะทะเลลอยน้ำ สามารถสร้างผลกระทบได้ไกล การจะจัดการขยะทะเล ต้องเป็นมาตรการจัดการเดียวกับก๊าซเรือนกระจกที่นานาชาติจะมาบีบเรา
"วันนี้เราทิ้งขยะลงทะเล เป็นอับดับห้าของโลก หากเทียบกับอันดับต้นๆ อย่าง จีน อินโดนีเซีย พิลิปปินส์ ประเทศไทยมีประชากรน้อยที่สุด จีนมีปริมาณขยะในทะเล 3 ล้านตัน ประเทศไทยมี 1 ล้านตัน ทั้งๆ ที่ไทยมีคนแค่70 ล้านคน"
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์พฤติกรรมของคนไทย หากยังเป็นแบบนี้ไม่นานเราก็ขยับขึ้นไปเป็นที่หนึ่งของโลกได้ และขณะเดียวกันนานชาติอย่างสหภาพยุโรปหรืออียูก็จะบีบเราแบบเดียวกับกรณีประมงผิดกฎหมาย IUU ถึงตอนนั้นเราจะลำบาก เราก็จะวิ่งแก้ไม่ทัน เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาไม่ว่า IUU หรือเรื่องมาตรฐานการบิน ICAO
“เรามักรอให้โดนบีบก่อน แล้วค่อยแก้ เราชำนาญการอ้อนวอน ง้องอน และต่อให้เรารณรงค์เรื่องขยะให้ตาย ก็ลดได้แค่ 10% เท่านั้น ” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวและว่า สิ่งนี้คือเรื่องที่นานาชาติเขาห่วงเพราะถามว่า ทำไมต้องมากินอาหารทะเลที่มีไมโครพลาสติก เขาก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม กับการที่เขาพยายามลด แต่ประเทศต้นทางดันไม่ลด วันนี้อียูเข้ามาติดต่อเพื่อมาตรวจในเรื่องนี้แล้ว
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวด้วยว่า ไมโครพลาสติก ภัยเงียบจากขยะในทะเล ถุงพลาสติกหากลอยไปติดประเทศอื่นอาจไม่เดือดร้อนเท่า หากพบแต่ว่าสิ่งที่น่ากังวลคือไมโครพลาสติก นั่นคือ พลาสติกที่แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กๆ ลงเรื่อย จนเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และลงไปเรื่อยๆ จนเรามองไม่เห็น แต่โทษยังร้ายแรง แพลงตอนก็กินไป ปลาเล็กกินแพลงตอน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และสุดท้ายปลาเหล่านั้นมาสู่จานอาหารของเรา
"หากสะสมไมโครพลาสติกมากๆ โทษก็มหาศาล ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการศึกษา พบว่าไมโครพลาสติกมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และต่อให้เราใช้ถุงที่บอกว่าย่อยสลายได้ อย่าลืมว่าไม่ย่อยสลายในทะเล"
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การจะบอกให้ลดใช้ถุงพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรากำลังทำงานกับคนมหาศาล เราต้องเข้าใจนิสัยการใช้ถุงพลาสติกของคนไทยก่อน รัฐบาลไทยรู้เรื่องขยะในทะเล บางคนเสนอใช้ ม.44 ขอบอกเลยว่า มันใช้ไม่ได้ เราไปบังคับขยะไม่ได้ บังคับคนไม่ใช่ถุงพลาสติกไม่ได้ ขยะทะเลไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่คือความท้าทายของสังคมไทยในยุคนี้ ที่จะนำเอาองค์ความรู้เรื่องต่างๆ มาใช้ ทั้งวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การสื่อสาร กฎหมาย นวัตกรรม วิศวกรรม อุตสาหกรรมในการผลิต ฯลฯ
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการที่ขอเสนอให้รัฐนำไปพิจารณาจัดการ คือ (1) ขายถุง ใครจะรับถุงต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งสามารถเริ่มจากสถาบันการศึกษา ร้านสะดวกซื้อ และค่อยขยับต่อไปในระดับใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ โร้ดแม๊ป ในการจัดการ เกาะพีพี ก็จะเริ่มทำเเล้ว (2) เรื่องการจัดการปัญหาขยะ ต้องรู้จักต่อยอดเป็นนวัตกรรม อย่างรองเท้าชื่อดัง อดิดาส อย่ามัวแต่จะเอามารีไซเคิล แต่ต้องสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่า
ด้าน ดร.วิจารย์สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเรื่องไมโครพลาสติกที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นในความสำคัญในเรื่องนี้ และอีกเรื่องคือ อาหารเหลือทิ้ง ถ้าเราไม่บริหารจัดการโอกาสที่เราจะขยับขึ้นไปอันดับต้นของโลกมีโอกาสมาก
"ปัจจุบันทุกคนสร้างขยะวันละ 1 กิโลต่อวัน คิดเป็น 7.4 หมื่นตันต่อวัน รวมกัน 27 ล้านตันต่อปี ขณะที่ขยะที่กำจัดถูกต้องมีเพียง 36% ส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ 21% ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 43% ขยะตกค้างอีก 10 ล้านตัน"
ดร.วิจารย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลตั้งเป้าลดขยะจากต้นทาง 5% ตามนโยบายประเทศไทย ไร้ขยะ เราต้องลดขยะที่ต้นทาง กิจกรรมไหนที่ก่อให้เกิดขยะ อย่างขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากครัวเรือนใช้ประโยชน์ได้ เรามีแนวจัดการ เมื่อเกิดขยะอินทรีย์จะไปไหน ท้องถิ่นจะจัดการกันอย่างไร ตรงนี้จะเป็นนโยบายที่กำลังผลักดันกันต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คนมักคิดว่าขยะทะเลมากจากคนริมทะเล ประมง แต่งานวิจัยกลับพบว่า ขยะในทะเลน้อยกว่า20% มาจากกิจกรรมทางทะเล พบว่าอีก 80% มาจากขยะบนบก ในประเทศไทยมีอัตราการเกิดขยะเพิ่มขึ้น 26.77 ล้านตัน องค์ประกอบส่วนใหญ่คือเศษอาหาร ถุงพลาสติก และหากเราสังเหตพบว่า อาหารไทยมีของเหลือเยอะ พฤติกรรมของเรากินเสร็จเราไม่แยก ดังนั้นปัจจัยเรื่องขยะหลักๆ มาจากเรื่องของพฤติกรรมมากกว่า
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พิชญ กล่าวอีกว่า ขยะทะเลมาจาก2สาเหตุหลัก คือหนึ่งขยะที่เก็บไม่ได้ ในต่างประเทศอัตราการเกิดขยะเท่าไร ก็เก็บได้เท่านั้น แต่ไทยมีช่องว่างตรงนี้เยอะมาก นอกเหนือจากปริมาณขยะที่เก็บไม่ได้ และต่อให้เก็บได้ จะพบว่าเป็นขยะที่ไม่มีมูลค่า โอกาสที่จะหลุดรอดสูงมาก ดังนั้นวันนี้เราต้องรีบหาทางจัดการขยะ เก็บให้ได้มากขึ้น วางระบบจัดการที่เหมาะสมกับความเป็นไทย หนุนซาเล้งคนเก็บขยะให้สามารถมีระบบในการต่อยอดได้
“เรื่องไมโครพลาสติกวันนี้ เราต้องเริ่มกังวลว่า เกลือทะเลที่กินทุกวันจะมีไมโครพลาสติกอยู่หรือไม่ เชื่อว่าเราทุกคนคงไม่อยากกินเกลือที่ปนเปื้อนพลาสติก” ผศ.ดร.พิชญกล่าว.
หมายเหตุ:
ภาพประกอบจาก http://4.bp.blogspot.com/-puZPxJ9XDto/VcWjyqnBUaI/AAAAAAAAAM4/eeFilt-Dgfs/s1600/303874.jpg