ฉบับเต็ม!ผลสอบสตง.ชำแหละงบจัดซื้อกล้องCCTV อบจ.ชลบุรี 746ล.
".. การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตามวัตถุประสงค์ โดยกล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัด และการดูแลบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้า.."
กล้องวงจรปิดในโครงการจำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้!
คือ ผลสรุปที่สำคัญที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลการตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด(CCTV) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ชลบุรี ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 -2559 รวมจำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ งบประมาณ 682,593,300 บาท และตั้งงบประมาณซ่อมแซมและย้ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 63,670,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 746,263,000 บาท ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลบางส่วนมาเสนอไปแล้ว
(อ่านประกอบ : จัดซื้อ723ตัว ใช้งานไม่ได้เกือบครึ่ง!สตง.สอบงบกล้องCCTV อบจ.ชลบุรี 746ล.)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการฯ นี้ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับเต็มมานำเสนอ ดังนี้
-------------------
รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.ชลบุรี) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จัดทำระบบ
บริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ได้กำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงนโยบายทางด้านการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจร และการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงได้ดำเนินโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม เฝ้าระวังตรวจสอบช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 – 2559 อบจ.ชลบุรี ได้จัดทำโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดโดยติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดชลบุรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 18 โครงการ งบประมาณ
682,593,300.00 บาท และตั้งงบประมาณงานซ่อมแซมและย้ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจำนวน 7 โครงการ งบประมาณ 63,670,000.00 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 746,263,300.00 บาท
โดยโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคมชุมชน เป็นโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดโครงการหลักของ อบจ.ชลบุรีซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 - 2559 รวมทั้งสิ้น 5 ระยะ ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 4 ระยะ สำหรับระยะที่ 5 อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง งบประมาณในการดำเนินโครงการตั้งแต่ระยะที่ 1-4 งบประมาณ รวม 498,609,000.00 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66.81 ของงบประมาณโครงการจำนวน 746,263,300.00 บาท ที่เกี่ยวกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทั้งหมดของ อบจ.ชลบุรี
การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัยบริเวณพื้นที่สาธารณะเสี่ยงภัยและเส้นทางคมนาคมชุมชน กำหนดวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้
1.เพื่อสร้างความมั่นคงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวและ/หรือ ที่พักอาศัย ในเขตพื้นที่ชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ
2.เพื่อให้ชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ มีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัย การปราบปรามและป้องกันการก่ออาชญากรรม และการจราจร ตลอด 24 ชั่วโมง
3.เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธร
ต่าง ๆ โดยใช้ภาพบันทึกไว้เป็นข้อมูลประกอบกรณีศึกษาในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆต่อไป
4.เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยแบบยั่งยืน
จากนโยบายดังกล่าวสถานีตำรวจภูธรจึงได้ขอรับการสนับสนุนให้ อบจ.ชลบุรี ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ โดยสถานีตำรวจภูธรได้มีการแจ้งความประสงค์ประเภทกล้องวงจรปิด
จำนวนกล้องวงจรปิด และพื้นที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ต้องการติดตั้งมายัง อบจ.ชลบุรี และ อบจ.ชลบุรี นำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้กับสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ ซึ่งหากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งตามโครงการฯ ของ อบจ.ชลบุรี สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ที่ผ่านมาทั้งจากการตรวจสอบและติดตามของหน่วยงานต่าง ๆ ข่าวหนังสือพิมพ์และแหล่งข้อมูล อื่น ๆ พบปัญหาหลายประการของการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เช่น กล้องไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก กล้องเสียบ่อย การจัดซื้อในราคาแพง กล้องคุณภาพต่ำปัญหาในการควบคุม ดูแลบำรุงรักษาภายหลังหมดระยะประกัน และการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด เป็นต้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินโครงการดังกล่าวที่จะเกิดประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านจึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
1.กล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้
จากการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 พื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ที่สถานีตำรวจภูธร 13 แห่ง พบว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการไม่สามารถใช้งานได้หรือไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุม จำนวน 309 กล้อง จากกล้องทั้งหมดจำนวน 723กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.73 ของจำนวนกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง และสภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ
2.ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการบางภาพไม่ชัด
จากการตรวจสอบ พบว่า ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัดเจน ภาพมัวแสงมากเกินไป ภาพมีแถบดำบัง ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุต่าง ๆ ได้
3.การดูแลและบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้า
3.1 การดูแลและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์แบบเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance)
ตามกำหนดทุก 3 เดือน ผู้รับจ้างเข้าบำรุงรักษาล่าช้า ไม่ตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรายงานการบำรุงรักษาของผู้รับจ้างไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน
3.2 การดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์เมื่อเกิดความเสียหายในช่วง
ระยะประกัน ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมล่าช้า และไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจนในการเข้าแก้ไขซ่อมแซม
3.3 การบำรุงรักษาซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์ในช่วงหมดระยะประกันมี
ความล่าช้า ขาดการตรวจสอบบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยกล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัด และการดูแลบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้าส่งผลกระทบดังนี้
1. ทำให้เกิดความสูญเปล่าหรือความไม่คุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการจัดทำโครงการใน
ส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้
2. ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ขาดเครื่องมือช่วยอำนวย
ความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการป้องกัน การแก้ไขปัญหา เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทันกาลตามวัตถุประสงค์โครงการ
3. ทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ไม่สามารถใช้งานได้ สูงกว่าที่ควร ซึ่งหากมีการดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดอย่างถูกต้อง ตามวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสม กล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์จะยังสามารถใช้งานได้ เป็นต้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อบจ.ชลบุรีพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ควรมีการจัดทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับสถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ ที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ถึงแนวทางการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบในเรื่องค่าไฟฟ้าที่
ห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การควบคุม กำกับดูแลทรัพย์สินตามโครงการ ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธร เช่น ให้มีการจัดทำคำสั่งมอบหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการ ให้มีการรายงานผลการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ปัญหาอุปสรรค แก่ผู้บังคับบัญชา และ อบจ.ชลบุรี เป็นระยะ ๆ
2. จัดให้มีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในส่วนของผู้ควบคุมบริหารจัดการดูแลรักษาระบบ เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคและผู้ใช้งาน เพื่อการใช้งานและการดูแลบำรุงรักษาระบบเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในขอบเขตการดำเนินโครงการในระยะที่ 1-4 แล้ว แต่ควรเพิ่มเติมกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมหรือผู้ใช้งานระบบ จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่คนใหม่ ต้องมีวิธีการอย่างไร เช่น ถ้ายังอยู่ในระยะประกัน ให้ผู้รับจ้างมาอบรมให้เพิ่มเติม หรือหากพ้นระยะประกัน ให้เจ้าหน้าที่ของ อบจ.ชลบุรีหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรายเดิมถ่ายทอดความรู้ให้ เป็นต้น
3. การซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการที่อยู่ระยะประกันและพ้นระยะประกัน
3.1 การซ่อมแซมในระยะประกัน อบจ.ชลบุรีควรมีการตรวจสอบการซ่อมบำรุงของ
ผู้รับจ้างในระยะประกันอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามแผนการซ่อมบำรุงเพื่อให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการสามารถใช้งานได้ มีระบบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความเสียหาย และ อบจ.ชลบุรีสามารถแจ้งให้ผู้รับจ้างลงไปสำรวจความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซมได้ในทันทีหรือภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยต้องมีระบบการบันทึกการแจ้งความเสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
3.2 การซ่อมแซมเมื่อพ้นระยะประกัน ให้ อบจ.ชลบุรีพิจารณาหาแนวทาง/วิธีการที่เหมาะสมในการซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่พ้นระยะประกันแล้ว เพื่อให้สามารถใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้อย่างต่อเนื่อง เช่น
- จ้างผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการบำรุงรักษาเป็นรายปีของแต่ละสถานีตำรวจที่พ้นระยะค้ำประกันสัญญาจ้าง เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา
- อบจ.ชลบุรี ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เช่น จัดตั้งศูนย์ควบคุมในระดับอำเภอ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแล ควบคุม ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดภายในศูนย์ควบคุม เพื่อให้การควบคุม ดูแลบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หากตำรวจหรือประชาชนต้องการใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ก็สามารถมาขอดูได้ที่ศูนย์ควบคุม
4. กรณีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์ เสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้อง
ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2553 หมวด 3 การควบคุมและการจำหน่ายพัสดุ ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ตัวใหม่เพื่อทดแทนตัวเก่าที่เสียหาย
5. ในการดำเนินโครงการระยะต่อไป ให้มีการกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการ (TOR)
ให้รัดกุมในเรื่องการบำรุงรักษา การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ให้มีการกำหนดเงื่อนเวลาที่ผู้รับจ้างจะเข้ามาดำเนินการเมื่อกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเกิดความเสียหาย หรือในช่วงบำรุงรักษาตามระยะทุก 3 เดือน ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้และให้กำหนดค่าปรับหากผู้รับจ้างไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด
- มีการจัดทำรายงานผลการบำรุงรักษาตามระยะทุก 3 เดือน โดยให้กำหนดรูปแบบการรายงานให้มีความครบถ้วน เช่น กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องสรุปจำนวนกล้องที่สามารถใช้งานได้ จำนวนกล้องที่ไม่สามารถใช้งานได้ สาเหตุที่ไม่สามารถใช้งานได้ วิธีการแก้ไข การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ สรุปปัญหาอุปสรรค เป็นต้น และเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมของ อบจ.จะต้องมีการตรวจสอบความครบถ้วนของรายงานดังกล่าวในทุกส่วน หากพบข้อบกพร่อง ให้รีบแจ้งผู้รับจ้างเพื่อนำไปแก้ไขต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการกำกับดูแลอย่างสูงสุด
6. ให้ประสานผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีในฐานะผู้กำกับดูแลสถานีตำรวจภูธร ถึง
การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของสถานีตำรวจภูธร จำนวน 13 แห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ได้รับการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการของ อบจ.ชลบุรี ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ เช่น ให้มีการจัดทำคำสั่งมอบหมายหน้าที่ ความรับผิดชอบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ กำหนดแนวทางการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษา เป็นต้น
สำหรับรายละเอียดข้อมูลการประกวดราคาจัดซื้อกล้อง cctv ของ อบจ.ชลบุรี สำนักข่าว อิศรา www.isranews.org จะนำข้อมูลมาเสนอในตอนต่อๆ ไป