ดร.สุภัทร เผยเรื่องร้องเรียนปี' 59 มี 98 หลักสูตรต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
"การทำงานถ้าอยากให้มีคุณภาพต้องมีจิตสำนึกเป็นหลัก เพราะท่านอาจจะได้เงิน แต่คนที่รับผิดกระทบจริงๆคือนักศึกษา ถ้าถูกสั่งปิดเด็กก็ต้องไปหาที่เรียนใหม่ เสียเวลา เสียเงินเพิ่ม บางคนไม่มีตังค์ต้องกู้ยืมเงิน ผู้ใหญ่ข้างบนก็กินกันสบาย บางมหาวิทยาลัย มีการพาสภามหาวิทยาลัยไปเที่ยวเมืองนอก ทำไมเป็นกันขนาดนี้ไปแล้ว"
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐาน และอนุมัติหลักสูตรที่เปิดในสถาบันอุดมศึกษา หลังผ่านการรับรองโดยสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง รวมถึงสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันมีหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานผุดขึ้นมากมาย กระทบต่อผู้เรียน เสียเวลา เสียงบประมาณ และเสียความเชื่อมั่นในตัวบัณฑิตและสถาบันการศึกษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.). ถึงอนาคตการศึกษาไทยกับการเปิดหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน
เริ่มต้น ดร.สุภัทร ชี้ให้เห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยจะเปิดสอนแต่ละหลักสูตรได้จะต้องมีการทำเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำว่า ถ้าจะเปิดหลักสูตรจะต้องมีหลักสูตรอย่างไร คุณสมบัติอาจารย์ผู้สอน จำนวนนักศึกษา โครงสร้างการเรียนการสอนจะต้องมีทฤษฎีกี่เปอร์เซ็นต์ และฝึกงานกี่เปอร์เซ็นต์
"กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้เหมือนเป็นการประกันสินค้า คนที่จะต้องทำตามคำสั่งคืออธิการบดีที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ขั้นต่ำที่วางไว้ หลักเกณฑ์ที่ว่าคือ ปริญญาโท อาจารย์ 1 คนต่อเด็ก 15 คน ส่วนปริญญาเอกอาจารย์ 1 ต่อเด็ก 5 คน และต้องมีอาจารย์ที่ตรงกับสาขาที่เรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด"
มหาวิทยาลัยไหนทำไม่ได้แบบนี้ เลขาธิการกกอ. บอกว่า ถือว่าผิดกฎเกณฑ์
ดร.สุภัทร ระบุถึงปัญหาหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน เกิดจากการที่สภามหาวิทยาลัยที่มีอำนาจเปิดหลักสูตรตามที่สกอ.ได้มอบอำนาจไว้ แต่ทางสภามหาวิทยาลัยไม่ทำการตรวจสอบหลักสูตรตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ บ้างมีการปล่อยปละละเลยให้เปิดหลักสูตรได้ทำให้เป็นปัญหาต่อเนื่องมา ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นถ้าสภามหาวิทยาลัยรับผิดชอบและตระหนักต่อมาตรฐานในการทำงาน
"ตอนนี้มหาวิทยาลัยที่มีปัญหาอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) มีปัญหาเรื่องการปลดอธิการบดี ส่วนม.บูรพา มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งอธิการบดี"
จากนั้นดร.สุภัทร ตั้งเป็นคำถาม "คุณเคยเห็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยมีปัญหาไหม คุณเคยเห็นม.ธรรมศาสตร์มีปัญหาไหม ในเรื่องการจัดการเรียนการสอน เพราะเขาจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐาน สภามหาวิทยาลัย อธิบดี คณบดี ที่มีความรับผิดชอบจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา อำนาจที่สกอ.ให้แก่มหาวิทยาลัยในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้อิสระแก่สถาบันในการคล่องตัวในการทำงานเพื่อทำตามเกณฑ์มาตรฐาน
"เมื่อปีที่ผ่านมามีการร้องเรียน 98 หลักสูตร ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และสกอ.ได้ทำตามตรวจสอบพบผิดจริงทั้ง 98 หลักสูตร"
เลขาธิการ กกอ. ยอมรับว่า ปัจจุบันยังสกอ.ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซงในส่วนของหลักสูตรในแต่มหาวิทยาลัย แต่ในปัจจุบันเมื่อมีคำสั่งคสช.ม.44 มาช่วย หากตรวจพบว่า หลักสูตรไม่ได้มาตรฐานก็สามารถที่จะเข้าไปกำกับควบคุมได้ โดยหากพบว่า ผิดจริง สกอ.มีอำนาจที่จะถอดถอนกรรมชุดนั้นๆได้
"การทำงานถ้าอยากให้มีคุณภาพต้องมีจิตสำนึกเป็นหลัก เพราะท่านอาจจะได้เงิน แต่คนที่รับผิดกระทบจริงๆคือนักศึกษา ถ้าถูกสั่งปิดเด็กก็ต้องไปหาที่เรียนใหม่ เสียเวลา เสียเงินเพิ่ม บางคนไม่มีตังค์ต้องกู้ยืมเงิน ผู้ใหญ่ข้างบนก็กินกันสบาย บางมหาวิทยาลัยมีการพาสภามหาวิทยาลัยไปเที่ยวเมืองนอก ทำไมเป็นกันขนาดนี้ไปแล้ว" ดร.สุภัทร กล่าวทิ้งท้าย