จับตา มติสนช. พิจารณาร่างกม.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่
ลุ้น สนช. ลงมติผ่านร่างกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่หรือไม่ด้านนักวิชาการ ชี้ สินค้าที่ใช้ยี่ห้อบุหรี่เสี่ยงผิดฐานโฆษณา ขณะที่การเพิ่มอายุขั้นตำ่ช่วยลดโอกาสการเข้าถึงมากขึ้น
ผศ.ดร.มลินี สมภพเจริญ นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา( www.isranews.org) ถึงกรณีร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นการปรับเพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องตามข้อตกลงในอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ทั้งยังปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่จะผ่านการพิจารณาจากสนช. เพราะเรื่องสุขภาพของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อถามถึงกรณีที่มีความเห็นว่า ข้อห้ามต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้จำนวนคนสูบบุหรี่ลดลง ผศ.ดร.มลินี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการยังขาดจัดการที่จริงจัง ในเรื่องการกวดขัน จับกุม โดยเฉพาะกับร้านโชห่วยเล็กๆ ในชุมชนที่ยังพบว่ามีการแบ่งขาย ซึ่งถึงแม้จะมีการกำหนดเรื่องอายุ แต่จากงานวิจัยพบว่า เด็กที่อายุไม่ถึงก็มักใช้กลยุทธ์อย่างให้วินมอเตอร์ไซต์ไปซื้อให้ หรือซื้อตามร้านเล็กๆ ที่แบ่งบุหรี่ขายเป็นตัว ตรงนี้ต้องมีการกวดขันมากขึ้น ทั้งนี้การเพิ่มอายุขั้นต่ำจากเดิม18 ปี เป็น 20ปี ก็จะช่วยลดโอกาสในการเข้าถึงลงมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ผศ.ดร.มลินี กล่าวด้วยว่า ค่านิยมเรื่องสูบบุหรี่แสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย ถูกปลูกฝังมานานผ่านการโฆษณาของบริษัทบุหรี่ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นบอกจะไม่ซื้อบุหรี่หากซองเป็นสีม่วง ซึ่งตรงกับสมมติฐานเบื้องต้นที่บอกว่า หากสามารถทำลายความเป็นชายของการสูบบุหรี่ลงได้ อัตราการสูบก็จะลดลงด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากในประเด็นเรื่องคำเตือนบนซองบุหรี่ ผศ.ดร.มลินี กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่าสามารถช่วยในเรื่องการรับรู้ถึงโทษ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น ทั้งยังพบว่า กลุ่มวัยรุ่นมีอัตราลด ละ เลิกสูบบุหรี่อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่น่าห่วงและกฎหมายฉบับนี้ก็บรรจุไว้ด้วยนั่นคือเรื่องของการนำชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไปแสดงบนสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตรงนี้กฎหมายฉบับใหม่กำหนดชัดเจนว่าห้าม ซึ่งหากมองดูในตลาดปัจจุบันจะพบว่า มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่นำเอายี่ห้อบุหรี่มาใช้ เช่นพวกเคสโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เป็นต้น ตรงนี้ก็อาจเข้าข่ายการโฆษณาได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสความสนใจและทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ส่งเสริมให้เกิดการสูบบุหรี่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กรณีที่บริษัทเหล้าผลิตน้ำดื่มขาย แล้วสามารถใช้ชื่อเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งการควบคุมตรงนี้ก็จะเป็นมาตรการต่อไป เพียงแต่วันนี้เอาแค่เรื่องกฎหมายควบคุมการเข้าถึง และการรับรู้ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้เท่าทันกับสังคมด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... เป็นการนำเสนอสาระสำคัญของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น การขยายตัวของผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ กลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบในการเพิ่มจำนวนผู้บริโภคยาสูบ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้โดยง่ายซึ่งจะเป็นการลดจำนวนนักสูบรายใหม่อีกทางหนึ่ง รวมทั้งจะเป็นการลดภาระงบประมาณในด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ประชาชน อันเนื่องมาจากโรคที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วย
อ่านประกอบ
นักวิชาการเผยคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ผล เรียกร้องสนช.คงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คุมยาสูบ
ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ....
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากhttps://ilaw.or.th