นายกฯ ลั่นปราบจริงเจ้าหนี้นอกระบบ จี้มาขออนุญาตดำเนินธุรกิจสินเชื่อให้ถูกต้อง
นายกฯ เปิดตัวเลขลงทะเบียนคนจน ปี 2559 เกือบ 7 ล้านคน เป็นผู้มีหนี้นอกระบบราว 1.33 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้นอกระบบรวม 86,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 64,600 บาท
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2560 ที่ห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน พร้อมปาฐกถา เรื่องรวมพลังภาครัฐขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ ในปี2560
นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ตำรวจและทหาร ที่เป็นผู้ตามทวงหนี้และเป็นเจ้าหนี้เองจะถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย หากไม่มาขึ้นทะเบียน “สินเชื่อพิโคไฟแนนซ์”
"วันนี้ให้เวลาเจ้าหนี้นอกระบบปรับตัว รีบมาตั้งบริษัทจำกัด เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ไม่อย่างนั้นจะให้ไปตั้งข้างในคุก 2 ปี ไปคิดเอาเอง ส่วนทหาร ตำรวจ ก็คิดเอา ถ้าใครเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ ขอให้แจ้งมา ไม่อย่างนั้นถ้าพบก็จะลงโทษทันที ตัวเองเคยเป็นผู้บังคับบัญชา รู้ดีว่าลูกน้องเป็นหนี้สินกันเยอะ รับราชการมาตั้งแต่ปี 2519 ทุกคนก็มีหนี้สินกันหมด เว้นแต่จะมีมรดกที่ได้มาอย่างถูกต้องก็ว่ากันไป แต่วันนี้ทุกคนมีหนี้สินกันหมด”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการใช้ประกาศ คสช. ตามมาตรา 44 จัดการเจ้าหนี้นอกระบบ มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ ม. 44 ก็จะมีความชอบในการใช้ ม. 44 แต่ถ้าหากกลุ่มใดไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ ม. 44 ก็จะต่อต้าน
“ถ้าหากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ผมก็จำเป็นต้องใช้ ถ้าใครไม่ชอบมาตรา 44 ผมจะเปลี่ยนเป็นมาตรา 45 บ้านเมืองยังเดือดร้อนจะให้ผมยกเลิกมาตรา 44 ได้อย่างไร หลายคนบอกมาตรา 44 ใช้ไม่ได้ เดี๋ยวผมจัดทำขึ้นใหม่มาตรา 88 จะได้เพิ่มโทษเป็น 2 เท่า ลองดูว่าจะใช้ได้ไหม ถ้าหากผมไม่ใช้มาตรา 44 ก็จะไม่มีผู้ใดใช้กฎหมายตามปกติ เพราะไม่มีผู้ใดทำ” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า พวกที่ไม่ชอบ คือพวกไม่ฟังกฎหมาย ไม่ชอบอยู่ในกฎหมาย รัฐบาลพร้อมจะรับคำร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ใครเป็นเจ้าของ เจ้าหนี้ผิดกฎหมาย ส่งข้อมูลมาที่ทำเนียบรัฐบาล จะดำเนินการให้ทันที พวกนี้ต้องใช้ 88 เลย เพราะใช้ 44 แล้วก็ไม่ปรับตัวกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงฐานข้อมูลของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมาพบว่า ในจำนวนผู้มีรายได้น้อย (ผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี) ที่มีสิทธิ์รับเงินสวัสดิการทั้งสิ้น 6.98 ล้านคนเป็นผู้มีหนี้นอกระบบราว 1.33 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้นอกระบบรวม 86,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 64,600 บาท
"ปัญหาของหนี้นอกระบบที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ กลายเป็นปัญหาสังคม เนื่องจากว่าประสบปัญหาทางด้านรายได้ที่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน แต่การกู้หนี้ยืมสินนั้นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมาแก้อย่างไรก็แก้ไม่หมดเสียที ดังนั้นต้องมีการร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ พยายามที่จะแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ทำแบบครบวงจร และแบ่งออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีมาตรการหลายอย่างที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้แต่ยังไม่ยั่งยืน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า วันนี้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายโดยการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่นอกระบบมาร่วมไกลเกลี่ย ประนอมหนี้ และเข้ามาขออนุญาตดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้ถูกต้อง โดยเร็ว และเร่งรัดการบังคับการใช้ร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปีพ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 หากบุคคลใดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้ จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ส่วนนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง การที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลภาพรวม ของทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และได้มีแนวคิดในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม คือการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และขจัดปัญหาหนี้สินนอกระบบให้หมดไปจากสังคมไทย กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายนำเสนอให้รัฐบาล มีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง 11 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนองค์กรมหาชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ขอบคุณภาพจาก:http://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/162