ปิดทองหลังพระ พบพท.ติดเขื่อนอุบลรัตน์ไม่มีน้ำทำเกษตร เล็งขยายการพัฒนาไปขอนแก่น-3จว.ใต้
ปี 2560 โครงการปิดทองหลังพระ เตรียมขยายตามแนวพระราชดำริเชิงพื้นที่ต้นแบบไปยังขอนแก่น และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุชัดผลการดำเนินงานปี 2559 ชาวบ้านกว่า 3 พันครัวเรือน 5 จังหวัด มีพื้นที่รับน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 3 พันไร่ รายได้จากการเกษตรพุ่ง หลายครัวเรือนพ้นเส้นความยากจน
วันที่ 27 ก.พ. 2560 ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมถ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงผลการดำเนินงานปี 2559 และการดำเนินงานในอีก 5 ปีข้างหน้า ของสถาบัน ฯ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวถึงผลการดำเนินงานปี 2559 ของสถาบันฯ ในพื้นที่ต้นแบบ 5 จังหวัด คือ น่าน อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี และเพชรบุรี ทุกพื้นที่เริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้การเกษตรกรมีโอกาสทางอาชีพเพิ่มมากขึ้น
“ในปี 2559 สามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้อีก 3,828 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นแบบ จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นถึง 2,209 ไร่ และ จ.อุทัยธานีเพิ่มขึ้น 1,619 ไร่”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ผลการจัดการน้ำทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ชุมชนในพื้นที่ต้นแบบมีรายได้จากเกษตรเพิ่มขึ้น ดังปรากฏว่า ในปี 2559 ชาวบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้น 118.7 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละเกือบ 35,000 บาท นับได้ว่า ประชากรในพื้นที่ต้นแบบพ้นเส้นความยากจนตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน หรือครัวเรือนพ้นจน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
“ขณะนี้เรากำลังหาทางก้าวไปเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูง แต่ก็ต้องมองความจริงด้วยว่า เรายังมีประชาชนที่อยู่ต่ำกว่าระดับความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ.คือรายได้ 30,000 บาทต่อคนต่อปี หรือเดือนละ 2,500 บาท”
นอกจากนี้ ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวถึงมติคณะกรรมการปิดทองหลังพระฯ มีมติขยายพื้นที่ต้นแบบไปยังจังหวัดขอนแก่น และในสามจังหวัดชายแดนใต้พื้นที่รวม 31 หมู่บ้านจำนวน 6,535 ครัวเรือน โครงการพัฒนาพื้นที่ จ.ขอนแก่น เริ่มต้นในพื้นที่ 10 หมู่บ้านของตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ครอบคลุม 989 ครัวเรือน และเมื่อเต็มโครงการในอนาคตจากครอบคลุมทั้ง 528 หมู่บ้าน รอบเขื่อนอุบลรัตน์ ส่วนโครงการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับ ศอบต.และกระทรวงมหาดไทย จากครอบคลุม 21 หมู่บ้านใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จังหวัดละ 7 หมู่บ้าน รวม 5,546 ครัวเรือน
“ใครที่ไปเห็นจะประหลาดใจที่ชาวบ้านติดเขื่อนอุบลรัตน์ไม่มีน้ำทำการเกษตร และภาคใต้ที่ว่ามีฝนแปดเดือนนั้น ยังมีบางแห่งเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ หรือบางแห่งน้ำเปลี่ยนทางไหลจนเกิดเป็นที่ดินรกร้างไม่ได้ประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของคนที่จุดนั้น แย่ลง” ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว และว่า งานพัฒนาต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่าที่เกิดขึ้น ถ้ามีความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ แทนที่จะร่วมมือกันเฉพาะกิจ เพราะยิ่งมีระบบที่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น