ไม่มีอาชีพ-รับจ้างก่อเหตุ...นิยามไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 - ยันไม่จับมือเอ็นจีโอ
"โครงการพาคนกลับบ้าน" ที่มียอด "ผู้แสดงตน" สูงขึ้นเรื่อยๆ กับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ถึงขั้นเตรียมกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยระดับอำเภอ" ร่วมกัน ถือเป็นดัชนีชี้วัดด้านหนึ่งที่สะท้อนว่าสถานการณ์ภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ "บิ๊กอาร์ต" พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ยังเชื่อว่าความรุนแรงจะยังคงเกิดต่อไป แต่เกิดเพราะปัจจัยอื่น โดยเฉพาะยาเสพติด การเมืองท้องถิ่น และมีกลุ่มที่รับจ้างก่อเหตุ
"ตอนนี้ชาวบ้านและญาติผู้เห็นต่างจากรัฐก็รู้ว่าเรามาหาอาชีพ สร้างรายได้ให้เขา เขาก็ต้องเตือนลูกเขาเอง แต่ความรุนแรงมันต้องเกิดขึ้นบ้าง เขาทำเพื่อหาเงินใช้ รับจ้างบ้าง และมีเรื่องยาเสพติดมาเกี่ยว รวมทั้งสิ่งผิดกฎหมาย อีก 3-4 เดือนน่าจะมีเยอะกว่าเดิม เพราะจะมีการเลือกตั้ง (หมายถึงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น) พอมีเลือกตั้งก็มีเหตุ มีมือปืน มีความแค้นระหว่างตระกูล ก็มีเหตุเหมือนภาคอื่นๆ ถ้าภาคอื่นเขาก็เรียกซุ้มมือปืน แต่ที่นี่เรียกผู้ความไม่สงบ"
"ตอนนี้เขาเริ่มรู้ว่าเราเอาอาชีพมาให้พ่อแม่เขา เอาความเจริญมา เขารู้เขาก็จะลงมาเอง (หมายถึงลงจากป่าเขา หันหลังให้ขบวนการ) แต่ก่อนเขาไม่มี แต่ก่อนเผาตู้โทรศัพท์ ได้เบียร์ 3 ขวด ทุบไฟแดงได้เบียร์ 1 ขวด เขาก็รับจ้าง เราก็ไม่โทษเขา เพราะทุกคนต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง เมื่อไม่มีอาชีพก็ต้องไปทำ" พล.ท.ปิยวัฒน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายฉบับชี้ว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากความขัดแย้งเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ ความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและความยากจน ทำให้มิติการพัฒนาที่ภาครัฐกำลังพยายามผลักดัน ถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นการแก้ไขปัญหาผิดทางหรือไม่ แต่จากการทำงานของแม่ทัพภาคที่ 4 ร่างเล็กคนนี้ เขากลับเห็นตรงกันข้าม
"ไม่ใช่หรอก เป็นการกล่าวอ้างเฉยๆ เหมือนสมัยโบราณก็เอาศาสนามาอ้าง จะแบ่งแยกดินแดนอะไรแบบนี้ คืออัตลักษณ์เราอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว ไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม อยู่ด้วยกันหมด ทุกวันนี้ก็อยู่ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่จะหลอกคนคนหนึ่งให้ก่อเหตุขึ้นมา ลงมาทำข้างล่าง ก็ไปปิดหูปิดตา แต่พอไปถามทุกคนที่อยู่ในความดูแลของเรา เขาพูดเองว่าไม่เห็นเหมือนกับที่ข้างบนบอกเขาเลย พอมาเจอเจ้าหน้าที่ก็เป็นคนละอย่างกัน พอเขากลับไป ก็เหมือนเดิม เพราะอยู่สังคมแบบนั้น" แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
แม้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบกำลังมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ท่าทีของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร กับ กอ.รมน.กลับกำลังถูกจับตาในแง่ของการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ การดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่เผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานที่ชายแดนใต้กลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับเอ็นจีโอย่ำแย่อย่างหนัก ทั้งๆ ที่ควรจะจับมือกันทำงานในห้วงที่กำลังเร่งสร้างสันติภาพ แต่แม่ทัพภาคที่ 4 มองว่าบทบาทของฝ่ายความมั่นคงไม่ใช่ปัญหา
"เอ็นจีโอนี่ผมคุยกับเขามาตั้งแต่ปี 47-48 ผมก็ไม่ว่าอะไรเขาเลย เอ็นจีโอมีหน้าที่ค้านอย่างเดียว แต่ผมทำงานเพื่อประชาชน อันไหนที่ผิด คุณก็ว่ามา ถ้าทำเกินกว่าเหตุ ผมก็ฟ้องกลับ แค่นั้นเอง ต่างคนต่างทำ คนละมิติ และคงไม่ต้องอธิบาย เขาเข้าใจ เอ็นจีโอเขาบอกรู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก เขาก็รู้ว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเขาไม่ค้านก็ไม่ได้เงิน ก็ต้องค้าน เพราะเป็นหน้าที่ แต่ผมทำงานเพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพ" พล.ท.ปิยวัฒน์ ระบุ
บทสรุปของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นไปในทิศทางใดยังยากที่จะคาดเดา แต่ภารกิจของทุกฝ่ายในวันนี้...ในวันที่ภาพรวมของสถานการณ์ดูดีขึ้น สมควรจับมือกันเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชน และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ปิยวัฒน์ ขณะร่วมกิจกรรมเปิดเหมืองลาบู และเปิดตัวทหารพรานผ้าพันคอฟ้า เมื่อเร็วๆ นี้
*อัญชลี อริยกิจเจริญ เป็นผู้สื่อข่าวสายทหาร สถานีโทรทัศน์ NOW26