วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา โต้ข่าวถูกสั่งปิด 3 หลักสูตรปริญญาเอก
คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ออกโรงชี้แจงไม่ได้ถูกสั่งปิด 3 หลักสูตรปริญญาเอกตามที่เป็นข่าว พร้อมยืนยันมาตรฐานหลักสูตรและการทำวิทยานิพนธ์ตามเกณฑ์ สกอ.
มหาวิทยาลัยบูรพา เป็น 1 ใน 4 สถาบันอุดมศึกษาที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 39/2559) เข้าไปจัดระเบียบ เพื่อให้การดําเนินงานของสถาบันฯ มีธรรมาภิบาล และเปิดหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ โดยได้ส่ง รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง เข้าไปเป็นประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา อ้างว่า ได้สั่งปิดหลักสูตรปริญญาเอกของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ จำนวน 3 หลักสูตร เพราะไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งจำนวนนักศึกษาที่มากเกินไป และจำนวนอาจารย์ที่ปรึกษาน้อยเกินไป นอกจากนั้นผลประชุมยังระบุถึงการส่งเล่มวิทยานิพนธ์ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย หากผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาส่งเล่มวิทยานิพนธ์ไม่ตรงตามกำหนด จะถูกถอดถอนรายชื่อจากการรับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก
หลังจากที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าได้สร้างความตื่นตกใจให้กับบรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นความไม่เชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษา มีการโทรศัพท์เข้าไปสอบถามทางวิทยาลัยกันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกหนังสือชี้แจงเรื่องนี้ไปยังคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน โดยย้ำว่าหลักสูตรปริญญาเอกของวิทยาลัยฯ ไม่ได้ถูกสั่งปิด
ผศ.ดร.บรรพต กล่าวว่า จากการสอบถามไปยัง รศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ทราบว่ากรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยได้เข้าตรวจดูทุกหลักสูตร ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยเบื้องต้นจะดูว่าผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ต้องมีเล่มงานนิพนธ์ (IS) วิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือเล่ม Dissertation ครบถ้วน จึงจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ จึงให้แต่ละคณะเตรียมข้อมูล และจะมีกรรมการมาตรวจ
ในส่วนของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ การจัดทำคุณภาพทางวิชาการ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ได้แก่ 1.มีการกระตุ้นและสนับสนุนนิสิตปริญญาเอกให้เขียนบทความวิชาการตีพิมพ์หรือนำเสนอในเวทีวิชาการทุกคน ทุกหลักสูตร 2.จัดประชุมวิชาการระดับชาติปีละ 2 ครั้ง ระดับนานาชาติปีละ 2 ครั้ง โดยร่วมมือกับคณะวิชาในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตปริญญาเอกได้มีประสบการณ์
3.มีวารสารทางวิชาการชื่อ “วารสารวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ บูรพาปริทัศน์” ที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ฐาน 1 (ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย) ซึ่งมีมากกว่า 200 ฉบับ วารสารของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ฉบับนี้มีคนอ่านเป็นอันดับ 7 ใน 10 อันดับแรก 4.วารสาร “Journal of Global Business Review” อยู่ในฐานข้อมูล TCI ฐาน 2 ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนทางวิชาการให้กับนิสิตปริญญาเอกของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์
สำหรับในเรื่องคุณภาพอื่นๆ นั้น การที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ หลักสูตรต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาวิชาการมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตรวจและประทับรับทราบ ขอยืนยันว่าวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ได้กระทำขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนทุกประการ และทั้ง 3 หลักสูตรยังไม่ได้มีการรับนิสิตแต่อย่างใด
ขณะที่วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์มีนิสิตปริญญาเอกเรียนรายวิชา และส่วนหนึ่งต้องทำดุษฎีนิพนธ์จำนวนมากกว่า 100 คน โดยรวมนิสิตทุกชั้นปี ทำให้ รศ.ดร.สมนึก แจ้งว่า สภามหาวิทยาลัยให้หยุดรับนิสิต และหาวิธีการสนับสนุนให้นิสิตในระบบทำดุษฎีนิพนธ์ให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป มิใช่ให้ปิดหลักสูตร
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ ผศ.ดร.บรรพต จากเฟซบุ๊ค