ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คุยมาตั้งแต่ปี 58 พ.ต.อ.วิรุตม์ ชี้ถึงวันนี้ยังขับเคลื่อนแบบเต่า
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่หลงทิศ มองหลายอย่างวันนี้ขัดหลักนิติรัฐอย่างยิ่ง ด้านอัยการจันทิมา เปิดจุดอ่อนการทำงานอัยการ กฎหมายไม่เปิดช่องให้ร่วมสอบสวน แถมถูกจำกัดด้วยเวลา เจอปัญหาสำนวนหลุดลอย -งดสอบสวนอื้อ
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานอภิปรายสาธารณะ เรื่อง “ข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตำรวจ อัยการ ศาล” ณ ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน
นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานที่ดีใช้ได้ แต่มีบ้างที่ประพฤติตัวเหลวไหล ประพฤติมิชอบ โดยปัญหาอยู่ที่ระบบทำให้คนดีวางเฉยได้ และยิ่งสูงยิ่งไขว่เขวได้ง่าย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีการปฏิรูปมาตลอดหลายสิบปี แต่ที่ปฏิรูปจริงๆ ในระดับหนึ่งมองว่า คือ ช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 พร้อมยกตัวอย่างการออกหมายจับหมายค้นโดยศาล ซึ่งการปฏิรูปตรงนี้ทำให้การใช้อำนาจของตำรวจลดลงไปอย่างมาก
"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมวันนี้ควรอยู่ในทิศทางหรือแนวทางที่ถูกต้อง ปฏิรูปหลงทางยังพอไปได้ แต่หลงทิศไปอีกเรื่องหนึ่ง ปัจจุบันยอมรับการปฏิรูปหลงทิศ เช่น นำพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร ให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา การหันหัวเรือให้ถูกทิศจากนี้จะไม่ง่าย" นายสมชาย กล่าว และว่า การประกาศหรือคำสั่งมาตรา 44 วันนี้ศาลก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แถมยังขัดหลักนิติรัฐอย่างยิ่ง จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงมากของคนรุ่นหลังที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมหันหัวเรือในทิศทางที่ถูกต้อง
อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรม แบ่งเป็นชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ ชั้นศาล ซึ่งต้องมีกระบวนการยุติธรรมก่อนหน้านี้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาคนล้นคุก คดีล้นศาล ที่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เช่น ยุติธรรมชุมชนที่มีประสิทธิภาพ
ในส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในขั้นเจ้าพนักงานตำรวจ นายสมชาย กล่าวว่า จะทำอย่างไรให้พนักงานสอบสวนทำงานได้อย่างอิสระ กระจายอำนาจไม่ให้ตำรวจผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เนื่องจากจำนวนพนักงานตำรวจกว่าสองแสนกว่าคน เงินเดือนน้อย เพิ่มเงินเดือนอย่างไรก็ไม่ได้ แต่หากกระจายอำนาจออกไปสังกัดหน่วยงานต่างๆ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้
นายสมชาย กล่าวถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ เป็นคนที่ไปชี้เป็นชี้ตายให้กับคน ฉะนั้นอนาคตต้องให้มีการตรวจสอบประวัติ รวมถึงศาลอุทธรณ์ก็ควรเป็นศาลพิจารณาไม่ใช่นั่งอ่านสำนวนจากศาลชั้นต้นเท่านั้น เพราะคดีอาญาการเห็นหน้าตาของพยาน โจทก์ จำเลย เป็นเรื่องสำคัญมาก
"การวิพากษ์วิจารณ์ศาล เราต้องยอมรับบทบัญญัติการดูหมิ่นศาล ยังสับสนมาก และมีความต่างกัน การที่คิดว่า การไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ศาลแล้วทำให้ระบบนิติรัฐเข้มแข็ง มองว่า ผิด แต่กลับทำให้ระบบนี้อ่อนแอ ผมเห็นด้วยวิพากษ์วิจารณ์ศาล แต่ต้องมีกรอบ โดยเฉพาะในคำตัดสินที่ไม่ถูกต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ถูกต้องได้"
พร้อมกันนี้ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลายเรื่องหลายราวที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม ด้านหนึ่งเกิดจากทนายความที่ขาดประสบการณ์ ขาดความรับผิดชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีไม่น้อย หลักการความยุติธรรมอย่างหนึ่งคืออาวุธที่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นรัฐต้องแก้ไขให้ความช่วยเหลือจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนให้มีทนายความคดีอาญามากยิ่งขึ้น พร้อมกับพัฒนาระบบช่วยเหลือประชาชนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะคุ้มครองประชาชนได้จริงๆ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงคนที่อยู่ในราชทัณฑ์จำนวนมาก คือ แพะ ขณะที่คดีที่ได้รับการรื้อฟื้นก็มีน้อยมาก คนติดคุกจำนวนมากส่วนใหญ่ติดคดียาเสพติด ถามว่า ทำไมเราไม่ยกคดีเหล่านั้นออกจากกระบวนการยุติธรรม มองคนที่เสพยาเสพติดเป็นคนไข้คนป่วย หากแก้แค่นี้ได้ เชื่อว่า คนติดคุกจะหายไปเกือบครึ่ง
ประเด็นการปฏิรูปศาล นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ศาลต้องลงดูข้อเท็จจริง รู้ปัญหาสังคมด้วย มิเช่นนั้นมีโอกาสตัดสินผิดพลาดได้ แม้จะทำให้คดียุติแต่ไม่นำสู่ความเป็นธรรม เปลี่ยนกระบวนการคิดของศาลใหม่
ขณะที่พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคบการ จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจพูดกันมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันนี้ยังขับเคลื่อนแบบเต่า ทุกวันนี้มีตำรวจ อัยการ ศาล เราไม่มีพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ถามว่า ความยุติธรรมจะเกิดได้หรือไม่
"ผมมองว่า การไม่สอบสวนคือปัญหาร้ายแรงที่ไม่มีใครทำอะไรได้เลย อย่าว่าแต่คนจนเลย แม้แต่คนชั้นกลางยังลำบาก คำว่าไปฟ้องคดีเอง จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งทำอย่างไรให้การรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวนมีการบันทึกภาพและเสียง เป็นไปด้วยความสุจริตอย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่วันนี้กลายเป็นว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมีเงินไหม มีอำนาจไหมก็รับแจ้งความ และก็จับผู้ร้ายได้"
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า เรื่องความมั่นคงของประเทศ ความยุติธรรมเป็นมิติหนึ่งของความมั่นคงของประเทศ สังคมไม่มีความยุติธรรมไม่มีทางมีความมั่นคงได้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น จึงมีความสำคัญ
ด้านนางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรม จุดสำคัญคือการค้นหาความจริง โดยเฉพาะต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการทำงานที่ผ่านของอัยการมีข้อจำกัดในเรื่องของการค้นหาความจริง เมื่อสำนวนอยู่ในมือของพนักงานสอบสวน หรือตำรวจ อัยการเหมือนการอ่านนิยายไม่มีโอกาสรู้สิ่งที่ตำรวจรวบรวมใช่หรือไม่ใช่
"เราไม่เคยเห็นสถานที่ เราเห็นแผนที่ เราเห็นภาพ จากรูปภาพที่ล้วนแล้วแต่เป็นภาพถ่าย อัยการรอเอกสาร สำนวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้ ไม่ได้พัฒนาให้อัยการเข้าร่วมสอบสวนแต่อย่างใด"นางสาวจันทิมา กล่าว และว่า การที่กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้อัยการร่วมค้นหาความจริง แม้มาเปิดช่องหลังปฏิรูปปี 2540 เมื่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้คดีพิเศษบางคดีอัยการเข้าร่วมค้นหาความจริงได้ แต่บางกรณีหาก DSI ไม่ประสงค์ให้อัยการร่วมก็แค่ที่ปรึกษา นี่คือข้อจำกัดการทำงานของอัยการ"
นางสาวจันทิมา กล่าวถึงองค์กรอัยการไม่ได้ถูกฝึกทักษะให้มีองค์ความรู้เรื่องการสอบสวน หากปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงต้องพัฒนาองค์กรอัยการมีบุคลากรอัยการมีทักษะด้านการสอบสวนด้วย ต้องร่วมกันเสนอความเห็นนี้ต่อสาธารณะ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งต้องมีกฎหมายเขียนให้ชัดเจน ความผิดฐานใดที่ให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวน อัยการต้องมีกฎหมายรองรับเรื่องเหล่านี้
ประเด็นอัยการว่าความในศาล สั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องนั้น นางสาวจันทิมา กล่าวว่า วันนี้เราทำได้แต่เพียงให้ตำรวจไปสอบเพิ่มเติม หรือมีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาแม้ว่าได้รับคำร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมเข้ามา ก็เป็นการสั่งลักษณะของหนังสือ อัยการไม่มีโอกาสลงไปค้นหาความจริง เพราะถูกจำกัดเรื่องเวลา เช่น ครบเวลาขัง หากไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลุดลอยไป นี่คือทำให้การค้นหาความจริงให้ปรากฎไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงยังมีปัญหาสำนวนหลุดลอย สำนวนที่ให้งดสอบสวน ที่ปรากฎมีอยู่จำนวนมากด้วย
นอกจากนี้ อัยการจันทิมา กล่าวถึงหลักประกันการโยกย้ายของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีองค์กรกลาง ทำงานแบบองค์คณะเข้ามาพิจารณา หากบ้านเรายังไม่มีหลักประกันการโยกย้ายก็จะมีส่วยอย่างที่เห็นกันอยู่ ในต่างประเทศไม่มีส่วย เพราะการโยกย้ายมีความเป็นธรรม เพราะมีกระบวนการพิจารณาที่มีหลักประกัน
สุดท้ายนายภักดี บุษยะบุตรี อุปนายกฝ่ายสารสนเทศ สภาทนายความฯ กล่าวถึงอาชีพทนายความ เป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเงินเดือน ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน จึงมีงบประมาณที่ผูกพันกับงบประมาณแผ่นดิน ปีละ 53 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดูงบประมาณกับภารกิจที่ต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายทั้งประเทศ 77 จังหวัด ร้อยกว่าศาลนั้น จึงยังไม่สอดคล้องกัน และส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน สำหรับคุณภาพทนายความ สภาทนายความฯ กำลังมีการแก้ไข โดยการจัดอบรมทนายความให้มากขึ้น ในอนาคตจะมีทนายความผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นายภักดี กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในภาคปฏิบัติที่เดินต่อไปไม่ได้นั้น มีปัจจัยหลายอย่างทำให้สะดุดกระท่อนกระแท่น โดยมองว่า งานสอบสวนคือหัวใจ หากติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดหมด ผิดกันเป็นทอด ๆ ในส่วนของทนายความที่ต้องมานั่งแก้ต่าง เราจึงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรม ติดกระดุมถูกตั้งแต่เม็ดแรก