สธ.เผยโรคฉี่หนูไม่ได้พบแค่ในทุ่งนา คนออฟฟิศติดเชื้อตายได้
ก.สาธารณสุข เผยคนเข้าใจผิดว่าโรคฉี่หนูพบได้เฉพาะในทุ่งนา และติดจากแผลลุยน้ำ ความจริงมีในอาคารบ้านเรือนออฟฟิศ ติดได้ทั้งทางตา การกิน กระทั่งหายใจ รักษาไม่ทันตายได้
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าโรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส จะพบได้เฉพาะในท้องทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเท่านั้น แต่ความจริงหนูที่อาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงานต่างๆก็เป็นพาหะของโรคนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในหนู วัว ควาย
โรคฉี่หนูมีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในช่วง 4-19 วัน แต่อาจจะเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน อาการของผู้ป่วยที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่อง โคนขา และกล้ามเนื้อหลัง ตาแดงอาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด และมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีผื่นที่เพดานปาก โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตับและไตวาย ดีซ่าน อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ซึมกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปน และเจ็บหน้าอก เป็นต้น ซึ่งถ้ารักษาได้ทันท่วงทีจะหายเป็นปกติ แต่หากรักษาไม่ทันทำให้เสียชีวิตได้
"คนเข้าใจผิดว่าจะติดโรคฉี่หนูเมื่อเดินลุยน้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนู และคนนั้นมีบาดแผลเท่านั้น แต่ความจริงเชื้อโรคฉี่หนูสามารถติดต่อเข้าทางตา การรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่วางทิ้งไว้แล้วหนูมาฉี่ใส่ได้เช่นกัน หรือการหายใจเอาละอองนิวเคลียสจากของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป แต่พบได้น้อย ส่วนภาชนะใส่อาหารที่หนูฉี่ใส่แล้วคนนำมาใส่อาหารรับประทานต่อนั้นมีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
จากรายงานการเฝ้าระวังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในปีงบประมาณ 2554 พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรซีสสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ สุรินทร์ พังงา และระนอง ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ .
ที่มาภาพ : http://www.thaigoodview.com/node/119500