พบนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน ถูกสังหาร-อุ้มหายเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคใต้
วิเคราะห์สถานการณ์การต่อสู้ของนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน พบถูกสังหารและอุ้มหายเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากภาคใต้ ขณะที่กรรมการสิทธิฯ วอนรัฐวางตัวเป็นกลางปกป้องชาวบ้าน และยอมรับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบรัฐได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม 415 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม องค์กร Protection international สถานทูตแคนาดา ร่วมกับโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน อีสาน (กป.อพช.) สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดงานเปิดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “For Those Who Died Trying แด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคอีสาน"
ภายในงานมีการจัดเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์การต่อสู้ของนักสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection international กล่าวว่า นิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไปได้จัดแสดงมาแล้วหลายที่ และสิ้นสุดที่ภาคสุดท้ายคือจังหวัดมหาสารคามภาคอีสาน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นักสิทธิมนุษยชนภาคอีสานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรในบ้านเกิดของตนเองนั้นต่างก็ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายกันไปเป็นจำนวนมาก
"จากการเก็บข้อมูลของ Protection international พบว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่นักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากถึง 7 คน เป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคใต้ และมีกรณีของพ่อเด่น คำแหล่ แกนนำนักต่อสู้ชุมชนโคกยาวจังหวัดชัยภูมิที่สูญหายเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปีโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้คำตอบและให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวของนายเด่นได้"
น.ส.ปรานม กล่าวถึงการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของนักสิทธิมนุษยชนที่เขาจะต้องมีเสรีภาพในการรวมตัวเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ซึ่งเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (มาตรา 1 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [ICCPR], กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม [IECSCR])และนำไปสู่ความสามารถในการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้
ตัวแทนองค์กร Protection international กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ที่เราได้มีการเก็บข้อมูลนักต่อสู้ที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายไม่มีคนไหนเลยได้รับความเป็นธรรม และนอกจากจะไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วคนที่อยู่ข้างหลังที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของตนเองนั้นก็ยังคงถูกปิดกั้นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย จะเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีที่ล่าสุดจากสถานการณ์ของกลุ่มคนรักบ้านเกิดจังหวัดเลย ที่ยังต่อสู้กับบริษัทเหมืองทองเพียงลำพัง ทั้งที่มีคำสั่งอย่างชัดเจนให้ปิดเหมืองทองทั่วประเทศ แต่บริษัทก็ยังมีการดำเนินการขนแร่โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐล่าช้าในการตรวจสอบ เชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์นักต่อสู่ภาคอีสานจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ หากรัฐยังปิดกั้นการแสดงออกอย่างสงบของชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ ให้หามาตรการในการดูแล ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน โดยหลายคนในรูปที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนี้ก็ได้ถูกเอ่ยถึงด้วย นอกจากนั้นในการประชุมทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ในวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ จะมีการหารือกันเกี่ยวกับเรื่องปกป้องนักสิทธิมนุษยชนด้วย
"บทบาทหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชนคือการตรวจสอบ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน หรือสิทธิมนุษยชน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำงานตรวจสอบ เราจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า จริงๆ แล้วการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงสิทธินั้นเป็นสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีปฏิญญาว่าด้วยนักสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย จึงถือว่า คนที่มาทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นคนที่สังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าถ้าเราปกป้องคนๆ เดียวนี้ได้ เท่ากับสามารถปกป้องคนอีกนับพันคนได้ เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะทำหน้าที่ปกป้องคนอื่นๆ ต่อไป"
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศมีการให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาก แต่ในบ้านเราดูจะละเลย เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายในนิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไป ที่ยืนยันได้ว่าคนเหล่านี้มีตัวตนจริงๆ ไม่ได้เป็นการอ้างอิงลอยๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ไม่มีความก้าวหน้าและไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคงต้องไม่คิดว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู เช่น กรณีการคัดค้านการทำเหมือง คนที่ชาวบ้านต่อสู่คัดค้านด้วยเป็นบริษัททุน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐควรวางตัวเป็นกลาง กลับกลายเป็นว่าเป็นมาทะเลาะกับชาวบ้าน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับบริษัททุน แต่ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรจะเป็นกลาง จึงกลายมาเป็นคู่กรณีกับชาวบ้านแทนบริษัททุน
“ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนเป็น 1 ใน 3 เรื่องสำคัญที่จะขับเคลื่อนกันในปีนี้ และตอนนี้มีการตรวจสอบในการละเมิดและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และหลังจากนี้คงจะมีการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมถึงการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและรวบรวมเป็นข้อเสนอแนะส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป”