ศาลจังหวัดพัทยา สั่งคุ้มครองฉุกเฉินรถเมล์เอ็นจีวี
ศาลจังหวัดพัทยา ได้ไต่สวนฉุกเฉิน ซุปเปอร์ ซาร่า ฟ้องกรมศุลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ปล่อยรถยนต์โดยสาร ตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด พร้อมวางเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถยนต์แต่ละคัน และไม่ต้องชำระค่าปรับ ด้าน ผอ.ขสมก. เตรียมนำเรื่องหารือคณะกรรมการตรวจรับและบอร์ด ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 13.30 น. นายชนิด ศุทธยาลัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ซุปเปอร์ ซาร่า จำกัด ผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี ได้เป็นโจทก์ฟ้อง กรมศุลกากร กับพวกประกอบด้วย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร, นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร, นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง, นายธีระชาติ อินทริง, นายวิฑูรย์ อาจารียวุฒิ ประธานฯ และกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ใหม่ที่นำเข้า
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันศาลจังหวัดพัทยา ได้ไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งว่า คำฟ้องโจทก์มีเหตุผลเพียงพอและพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ยึดหน่วงรถโดยสารไว้ ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานอย่างเพียงพอว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Form D) เป็นเท็จหรือไม่หรือมีเหตุอื่นหรือไม่และให้โจทก์วางค่าปรับนอกเหนือจากเงินประกันค่าภาษีอัตราร้อยละ 40 โดยไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากร พ.ศ. 2556 เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร สำหรับของมีถิ่นกำเนิดจากอาเซียนทำให้โจทก์เสียหาย
จึงมีเหตุที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา จึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันปล่อยรถยนต์โดยสาร ตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด และโจทก์ย์ต้องวางเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถยนต์แต่ละคันและไม่ต้องชำระค่าปรับตามประมวลระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากร พ.ศ.2556 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถยนต์แต่ละคันด้วย
สำหรับคำฟ้อง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่า ร่วมกันจงใจกระทำละเมิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กล่าวว่าโจทก์แสดงถิ่นกำเนิดอันเป็นเท็จ โดยยึดหน่วงรถยนต์โดยสารเอ็นจีวีที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซียจำนวน 99 คัน
ซึ่งความจริงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดออกโดย หน่วยงานราชการประเทศมาเลเซีย โดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2556 ข้อ 4 03 06 05 เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร สำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน (ATIGA)
ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทราบดีว่าเอกสารดังกล่าวมิได้เป็นเท็จ อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งบุคคลเช่นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 พึงจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น กล่าวคือร่วมกันจงใจกระทำละเมิดอย่างร้ายแรงกล่าวหาโจทก์โดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ซึ่งเป็นเพียงข้อสงสัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM D) อันเป็นเท็จเท่านั้น ทั้งสินค้าที่โจทก์นำเข้าก็ไม่อยู่ในข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ในความผิดฐานสำแดงเท็จ ตามพระราชบัญญัติห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ.2481 มาตรา 5 เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา เฉพาะที่เกี่ยวกับของหัตถกรรมเท่านั้น ไม่ใช่สินค้ารถยนต์โดยสารที่โจทก์นำเข้าแต่อย่างใด
นอกจากฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวแล้ว ยังทำให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์โดยสารดังกล่าวให้แก่ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ทันตามกำหนดเวลาตามสัญญาอีกด้วย โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าโดยถูกต้อง จำเลยทั้งหก จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์โดยสารปรับอากาศ เอ็นจีวีดังกล่าว
ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้มีหนังสือโต้แย้งการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 แล้ว แต่จำเลยทั้งหกไม่ยอมส่งมอบรถยนต์โดยสารเอ็นจีวี ให้แก่โจทก์และพยายามจงใจให้โจทก์ชำระค่าปรับในอัตราสองเท่านอกเหนือจากค่าภาษีอัตราปกติอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2556 ข้อ 4 03 06 05 เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน (ATIGA) และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และหน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับรถยนต์โดยสารปรับอากาศ เอ็นจีวี
ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก. กล่าวว่าได้รับทราบแล้วว่าศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินให้บริษัทฯผู้นำเข้าสามารถนำรถเอ็นจีวี ออกมาโดยให้วางเฉพาะเงินประกันภาษี 40 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องวางประกันค่าปรับ 2 เท่า ตรงนี่ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนจะนำไปหารือกับคณะกรรมการตรวจรับและบอร์ด ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า คนกรุงเทพฯอาจได้ใช้รถใหม่ในเร็ววันนี้