นายกส.ผู้ประกอบการ รปภ. ลุ้นพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย เลื่อนอีก เหตุกม.ลูกยังไม่ออก
ใกล้ครบกำหนดแล้ว หลังหัวหน้า คสช. ใช้ม.44 ขยายเวลาจดทะเบียนธุรกิจ-ใบอนุญาต รปภ.เป็น 360 วัน นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยฯ ชี้ถึงวันบังคับใช้กฎหมายเชื่อ ยังคงใช้ไม่ได้ เหตุกฎหมายระดับรอง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัตินั้นยังไม่ออกมา
นายวัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าอิศรา www.isranews.org ถึงพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ที่มีการขยายเวลาบังคับใช้ถึง 2 ครั้ง ว่า เนื่องจากพบปัญหาตั้งแต่การร่างตรากฎหมาย ที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน จึงทำให้การตรากฎหมายที่ออกมาแล้วก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะไปกำหนดเรื่องของวุฒิการศึกษาไว้ว่า ต้องจบการศึกษาภาคบังคับชั้น ม.3 ซึ่งเมื่อกำหนดไว้อย่างนี้แล้ว ในส่วนของภาคธุรกิจรักษาความปลอดภัย ผู้ที่จบชั้น ม.3 ยังมีจำนวนน้อยมาก และไม่ถึง 30% ด้วยซ้ำไป และเมื่อไม่สามารถดำเนินธุรกิจ หรือไม่มีคนเข้ามาทำงานด้านนี้ได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการเลิกจ้าง เมื่อธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีกฎหมายที่ไปกำหนดในเรื่องของผู้ที่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก ซึ่งยังไม่พ้น 3 ปีที่ทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย เพศ การพนัน และยาเสพติด เป็นต้น ถือเป็นความผิดหรือโทษทั้งหลายที่ไปกำหนดไว้ทำให้คนที่เป็น รปภ. อยู่แล้วก็ต้องออกไปจากงาน นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชย
"กฎหมายฉบับนี้ ยังมีความไม่เป็นธรรมในเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไปแต่งตั้งนำผู้ไม่มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ไม่ได้มาจากภาคธุรกิจรักษาความปลอดภัยอย่างแท้จริง เข้ามาเป็นบอร์ดในสายของผู้ทรงคุณวุฒิ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร้องเรียนไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว"
นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยฯ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช. ขยายระยะเวลาออกไป 360 วัน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษจิกายน 2559 จึงต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 (อ่านประกอบ:‘บิ๊กตู่’ม.44 ขยายเวลาจดทะเบียนธุรกิจ-ใบอนุญาต รปภ.เป็น 360 วัน)
นายวัชรพล กล่าวว่า แม้ถึง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ บังคับใช้ ก็เชื่อว่า ยังคงใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่า ในขณะนี้กฎหมายลูกหรือกฎหมายระดับรอง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัตินั้นยังไม่ออกมา รวมทั้งกฎหมายลูกจะต้องไปออกในเรื่องของระเบียบ อัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ว่า รปภ. ต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าไร ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดตรงนี้ ดังนั้นเมื่อยังเก็บค่าธรรมเนียมหรือขอเอกสารต่างๆไม่ได้ ก็ยังออกใบอนุญาตไม่ได้เช่นเดียวกัน
"ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในมาตรา 6 (3) นายกรัฐมนตรีให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตามขอเรียกร้องโดยเจตนารมณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่เผอิญว่าเมื่อแก้ไขแล้ว ก็ต้องมีการแต่งตั้งบอร์ดใหม่ โดยคำสั่งนั้นได้กำหนดไว้ว่า ให้นายกรัฐมนตรีไปออกระเบียบกฎเกณฑ์หรือวิธีการได้มา ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ตอนนี้ระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็ยังไม่ออกมา และยังไม่มีการสรรหาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในจำนวน 6 คน ซึ่งมาจากธุรกิจรักษาความปลอดภัย 4 คน ก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง ฉะนั้นจึงคิดว่ายังไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องในทิศทางของกฎหมาย"
นายวัชรพล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เคยเสนอไป คือกฎหมายฉบับนี้ เดิมมี 4 ฉบับด้วยกัน ซึ่งกระบวนการเสนอกฎหมายเดิมทีต้องผ่านนักการเมือง ตั้งแต่สมัยพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีการยุบสภาไป และตอนหลังทาง สปช. มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีกฎหมาย 2 ฉบับมีความแตกต่างกัน กฎหมายหนึ่งเป็นเชิงการส่งเสริม แต่กฎหมายที่ สปช. เสนอเป็นกฎหมายในเชิงควบคุม แต่ที่จริงแล้วช่วงแรกก็มีการแก้ไขร่วมกันโดยทางฝ่ายสมาคม รปภ. ก็ร่วมให้ข้อคิดเห็นและร่วมยกร่างด้วย แต่ผลสุดท้ายมีการเสนอร่างล่าสุดก่อนที่จะเข้า ครม. และไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้เสนออีกแนวหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งไม่เป็นแนวที่เราที่เห็นชอบร่วมกัน จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาในการปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ รวมถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่สามารถส่งเสริมธุรกิจได้ เนื่องจากว่า ไม่บังคับใช้กับโครงการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และ รปภ. อิสระ หรือ รปภ. ที่สถานประกอบการ ไม่ได้มีการควบคุม ฉะนั้นสิ่งนี้ก็เป็นช่องโหว่อยู่เหมือนกันว่า ทำให้การพัฒนาธุรกิจต่อไปข้างหน้านี้จะเป็นปัญหา ไม่เป็นมาตรฐานอย่างที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ที่ออกมาจึงมีช่องโหว่เยอะอยู่พอสมควร
อ่านประกอบ:
กฤษฎีกาตีความกม.คุมเข้มธุรกิจรปภ.ต้องจบ ม.3 -สตช.ชี้ตกงานอื้อ 4 แสนคน
เผยแพร่แล้ว!พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย เป็น‘รปภ.’ต้องเสียใบอนุญาต 1,000 บ/คน