เยียวยาใต้ไม่จบแค่ 7 ล้านห้า...เผย 7 ประเด็นปัญหา ชาวบ้านโวยหักเงินตั้ง"กองทุน"
การประชุมและแถลงกรอบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น หากตัดประเด็นตัวเลขจำนวนเงิน (ไม่เกิน) 7.5 ล้านบาทซึ่งทุกฝ่ายดูจะพึงพอใจออกไปแล้ว ประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นดูจะยังเป็นปัญหา และหากบริหารจัดการไม่ดีอาจมีความขัดแย้งตามมาได้
โดยเฉพาะหลากหลายประเด็นที่อนุกรรมการชุดต่างๆ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมและยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งจะต้องมีการทำงานในระดับพื้นที่ต่อไป ทั้งยังมีบางประเด็นกระทบกับยอดเงินเยียวยาที่ชาวบ้านจะได้รับด้วย สรุปได้ดังนี้
1.ยอดเงิน 7.5 ล้านบาทเป็น "เพดานสูงสุด" สำหรับกรณีเสียชีวิต แต่เมื่อครอบครัวหรือญาติพี่น้องได้รับจริงอาจไม่ถึง 7.5 ล้านบาท เพราะต้องนำไปหักกับเงินเยียวยา ค่าชดใช้ ชดเชย หรือเงินทดแทนอื่นใดที่รัฐได้จ่ายให้ญาติผู้สูญเสียก่อนหน้านี้แล้ว เช่น กรณีตากใบ หรืออิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งมีการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีบนศาลแพ่ง และรัฐยอมจ่ายค่าชดเชยการเสียชีวิต เป็นต้น
2.เรื่องวิธีการจ่ายเงิน จะจ่ายก้อนใหญ่ก้อนเดียว หรือทะยอยจ่ายรายเดือน รายไตรมาส เนื่องจากมีการเสนอหลายรูปแบบ เช่น จ่ายก้อนแรก 4.5 ล้านบาทเป็นเงินสดก่อน ที่เหลือทะยอยจ่ายเป็นงวด เป็นต้น
3.มีข้อเสนอจากอนุกรรมการบางคน บางชุด ให้ตั้ง "กองทุน" หรือ "มูลนิธิ" โดยหักเงินเยียวยาจากผู้ได้รับผลกระทบเพื่อเป็นทุนประเดิมตั้งต้นในการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ในระยะยาวอย่างยั่งยืน เช่น ทุนการศึกษาของบุตรหลานผู้สูญเสีย หรือใช้เป็นทุนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
4.อนุกรรมการบางรายเสนอให้นำเงินเยียวยาบางส่วนสร้าง "พิพิธภัณฑ์" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสีย อาจมีการจารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายเอาไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ทุกคนหยุดใช้ความรุนแรง
5.เรื่องตัวเลขผู้สูญหาย หรือ "ถูกบังคับให้สูญหาย" เบื้องต้นคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นชอบกับตัวเลข 36 ราย แต่มีอนุกรรมการบางคนเสนอตัวเลขผู้สูญหาย 54 ราย จึงยังหาข้อยุติไม่ได้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้อนุกรรมการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอีกครั้ง
6.มีข้อสังเกตเรื่องการติดตามการใช้จ่ายเงินเยียวยาของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอนุกรรมการบางคน บางคณะ เป็นห่วงว่าเมื่อชาวบ้านได้รับเงินไปแล้วอาจนำเงินไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์
7.อนุกรรมการบางรายแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่เตรียมหาผลประโยชน์จากชาวบ้านที่ได้รับเงินเยียวยา โดยเฉพาะพฤติการณ์เรียกหัวคิว ซึ่งภาครัฐยังไม่มีมาตรการชัดเจนเพื่อป้องกัน
ญาติผู้สูญเสียโวยแนวคิดหักเงินเยียวยาตั้งกองทุน
น.ส.คอลีเยาะ หะหลี ผู้สูญเสียบิดาจากเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 กล่าวว่า มติของคณะกรรมการฯที่ให้จ่ายเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ทุกกลุ่ม ทุกคน ถือเป็นเรื่องดี แต่ที่ยังมีความกังวลคือเรื่องการหักเงินเยียวยาบางส่วนเพื่อตั้งเป็น "กองทุน" เพราะเท่าที่ได้คุยกันเบื้องต้นในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กรือเซะและตากใบซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด พบว่าครอบครัวผู้สูญเสียส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
"ทุกคนต้องการเงินก้อน รัฐจะจ่ายคราวเดียวหรือแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ก็ได้ แต่ไม่มีใครอยากให้หักเงินเยียวยาที่ชาวบ้านจะได้รับไปตั้งกองทุน ส่วนที่อนุกรรมการหลายคนเกรงว่าชาวบ้านจะใช้เงินไม่เป็น ทำให้เงินหมด หรือนำไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์นั้น อยากบอกว่าเป็นสิทธิของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เพราะทุกคนมีภาระค่าใช้จ่าย บางคนมีหนี้สิน บางคนมีลูกหลานหลายคน ก็จะต้องนำไปแบ่งอย่างเท่าเทียมกัน ชาวบ้านจะนำเงินไปใช้อะไรก็เป็นสิทธิของแต่ละคน"
"ที่ให้เหตุผลว่าต้องตั้งกองทุนเพื่อความยั่งยืนนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่สนใจ และไม่มั่นใจว่ามันจะยั่งยืนจริงหรือเปล่า เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีอะไรที่ยั่งยืน อย่างกรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ทุกคนก็รู้ว่ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดงมากกว่า เพราะหากต้องการช่วยเหลือเหยื่อไฟใต้กันจริงๆ ก็ต้องช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงต้นๆ หลังเกิดเหตุการณ์แล้ว” น.ส.คอลีเยาะ ระบุ
ขณะที่ นางแยนะ สะแลแม ตัวแทนญาติเหยื่อตากใบ กล่าวว่า กรณีที่รัฐมีมติจ่ายเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าเทียมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมืองนั้น ชาวบ้านทุกคนรู้สึกดีใจและต้องขอบคุณรัฐบาลด้วยที่ไม่ลืมพวกเรา แต่ที่ยังเป็นห่วงคือเรื่องการจ่ายเงิน โดยเฉพาะทายาทของผู้เสียชีวิต รัฐต้องเข้าไปดูแลให้ทายาททุกคนได้รับเท่าเทียมกันเป็นรายๆ ไป ต้องระวังการนำไปตีความว่าเงินเยียวยาเป็น "มรดก" เพราะจะทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันเองในหมู่ทายาทของผู้เสียชีวิต
"ส่วนกรณีการหักเงินเข้ากองทุนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นั้น ก็ได้ยินมาเช่นกัน หากถามชาวบ้านทุกคนก็คงตอบเหมือนกัน คือทุกคนไม่ต้องการให้หักเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตั้งกองทุนหรือการส่งให้ประกอบพิธีฮัจญ์ จะมาหักเงินเยียวยาเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ ชาวบ้านไม่ต้องการ เพราะเมื่อทุกคนได้รับเงินแล้วก็สามารถจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้จะสอบถามไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน จะได้สามารถอธิบายกับชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง" นางแยนะ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) คอลีเยาะ หะหลี (ขวา) แยนะ สะแลแม