ม.บูรพา สั่งปิด3หลักสูตรตกเกณฑ์มาตรฐาน -ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ ป.โท_เอก 2พันราย
ม.44 จัดระเบียบธรรมาภิบาลสถาบันอุดมศึกษา เกือบ 4 เดือน ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภา มบ. ตรวจสอบพบบางหลักสูตรของปริญญาโท-เอก ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมีการรับนักศึกษามากเกินไปและจำนวนอาจารย์ที่ปรึกษาไม่พอ
จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 2/2559 ตามอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 โดยการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งปรากฏมี มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) รวมอยู่ด้วยนั้น
ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการดําเนินการของสถาบันอุดมศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ รศ.ดร. อานนท์ เที่ยงตรง ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมาสภามหาวิทยาลัยบูรพาได้มีการประชุมพร้อมลงมติเกี่ยวกับเรื่องการสำเร็จการศึกษาของหลักสูตร ปริญญาโทและปริญญาเอก พบว่ามีปัญหาในเรื่องของการส่งเล่มวิทยานิพนธ์ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย สภามบ. จึงมีมติว่าผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาพร้อมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในเดือนพฤษภาคม 2560 นั้นถ้ามีการส่งเล่มวิทยานิพนธ์ไม่ตรงตามกำหนดก็จะถูกถอดถอนรายชื่อจากการรับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก
ส่วนการประชุมสภา มบ. วันที่ 23 ก.พ. 2560 รศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบหลักสูตรของปริญญาโทและปริญญาเอก ในบางสาขาวิชาแล้วพบว่า หลักสูตรปริญญาเอกของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ 3 หลักสูตรไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมีการรับนักศึกษามากเกินไปและจำนวนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน มีจำนวนที่น้อยเกินไป รวมทั้งขาดคุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาตามเกณฑ์มาตรฐาน จึงมีมติให้งดรับนักศึกษาใหม่ พร้อมทั้งหาอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่มาเป็นผู้ดูแลนักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ ในหลักสูตรดังต่อไปนี้ 1.ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาองค์การและการจัดการสมรรถนะของมนุษย์ 2.ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสาธารณะ 3.บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) โดยวิชาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตมีอาจารย์ขาดคุณสมบัติจำนวน 2 คน ส่วนในเรื่องของการการจัดการกับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการว่าจะจัดการอย่างไร
รศ.ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า สภามหาวิทยาลัยจะมีการตรวจสอบย้อนหลัง หากพบว่านักศึกษาที่เรียนจบแล้ว ไม่ส่งเล่มวิทยานิพนธ์ให้กับทางมหาวิทยาลัยก็จะถูกถอนใบปริญญาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก โดยในการถอนใบปริญญานั้นจะมีการตรวจย้อนหลังทั้งสิ้น 5 ปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักศึกษาที่จบปริญญาโทและปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 2,000 คน
“ในเบื้องต้นมีการตรวจสอบไปเพียง 3 หลักสูตรเท่านั้น กำหนดการประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 9 มีนาคม 2560 และวันที่ 23 มีนาคม 2560 คาดว่า จะทราบผลการตรวจสอบย้อนหลัง และจะมีการตรวจสอบอีก 135 หลักสูตร ทั้งระดับปริญญาโท 87 หลักสูตร ปริญญาเอก 48 หลักสูตร ทั้งนี้เพราะเพื่อคุณภาพของการศึกษา”