จนท. ป.ป.ช.เขียนจดหมายถึง ปธ.ศาลปค. ปมคำพิพากษาคดีตั้งซี 9 มิชอบ 35 คน
อดีต จนท. ป.ป.ช.เขียนจดหมายถึง ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ขอความชัดเจนคำพิพากษา กรณีต้นสังกัดออกหลักเกณฑ์เลื่อนขั้น ระดับ 9 - 35 ราย มิชอบ คดีถึงที่สุดตั้งแต่ ปี 58 แต่ยังไม่ได้รับเยียวยา ซ้ำถูกเรียกให้ส่งผลงานประเมินย้อนหลัง ทั้งที่เกษียณแล้วเกือบ 6 ปี
สืบเนื่องจากกรณีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 (คดีหมายเลขแดงที่ อ.940/2558) ว่าหลักเกณฑ์และวีธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการ สำนักงานป้องกันและปราปปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำรงตำแหน่งระดับที่สูงขึ้น (ระดับ 9) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ ให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 (คำสั่งแต่งตั้ง ข้าราชการระดับ 9) ตามที่ นางวลัยพร ธรรมวงศา นางนนทิยา สุทธิพงศ์ และ นายธีระกุล พุ่มอรุณ ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 ฟ้องสำนักงาน ป.ป.ช. กับพวก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 นางนนทิยา สุทธิพงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ส่งหนังสือโดยเขียนด้วยลายมือถึงประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นฉบับที่สอง (ฉบับก่อนหน้านี้ 21 พ.ย.2559) และสำเนาเรียนองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อติดตามผล และขอทราบเจตนารมย์ของพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ
1.เมื่อหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อประเมินเลื่อนระดับ 9 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจนำมาบังคับได้ ดังนั้น คำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 ที่เลื่อนข้าราชการ ป.ป.ช. จำนวน 35 รายขึ้นเป็นระดับ 9 โดยไม่มีรายชื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แต่ถ้าหากมีรายชื่อผู้ฟ้องคดีอยู่ด้วย จะทำให้คำสั่งเลื่อนข้าราชการ จำนวน 35 รายขึ้นเป็นระดับ 9 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ ประการใด
2.กรณีที่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 (เลื่อนข้าราชการ จำนวน 35 รายขึ้นเป็นระดับ 9) เฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 โดยให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง หมายความว่า ให้เพิกถอนคำสั่งที่แต่งตั้งเลื่อนข้าราชการทั้ง 35 คน เป็นระดับ 9 ทุกคน เพราะเป็นส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี นับแต่วันที่ออกคำสั่ง
หรือ เป็นการให้เพิกถอนเฉพาะในส่วนที่ไม่มีชื่อผู้ฟ้องคดี(ซึ่งไม่มีชื่อผู้ฟ้องในคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 141/2548 อยู่แล้ว) อันจะทำให้สามารถเยียวยาแก้ไข โดยให้มีชื่อผู้ฟ้องคดีในคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 141/2548 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2548 เพื่อจะทำให้เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่นเดียวกับ 35 คน ที่ได้รับไปแล้ว เป็นการเยียวยาอันเนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นำเอาหลักเกณฑ์และวีธีการประเมินคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาพิจารณาเลื่อนผู้ฟ้องคดี และข้าราชการ 35 คนดังกล่าว
นางนนทิยาระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการทราบคำตอบจากศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2560 ให้ นางนนทิยา ซึ่งเกษียณอายุราชการตั้งแต่ ต.ค.2554 ส่งผลงานเพื่อประเมินเป็นระดับ 9 โดยอ้างคำพิพากษาขอศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ แต่นางนนทิยาเห็นว่า คำพิพากษาขอศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ระบุว่าให้ นางนนทิยาและผู้ฟ้องคดี ต้องส่งผลงานเพื่อประเมินแต่งตั้งขึ้นเป็นระดับ 9 ใหม่ แต่อย่างใด
“เพราะจากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว จึงส่งผลให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน กับข้าราชการ ป.ป.ช.ทั้ง 35 รายและผู้ฟ้องคดีทุกคนได้แต่ประการใด ดังนั้นสำนักงาน ป.ป.ช.จะแต่งตั้งเลื่อนข้าราชการ เป็นระดับ 9 หรือไม่ แต่งตั้งผู้ใด ก็จะต้องปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ” จดหมายของนางนนทิยาระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2560 สำนักงานประธานศาลปกครองสูงสุดได้ส่งหนังสือแจ้งนางนนทิยาว่า ประเด็นข้อหารือดังกล่าว เป็นเรื่องของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงได้มอบหมายให้สำนักคดีปกครองพิจารณาดำเนินการต่อไป
ล่าสุด นางนนทยา เปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เคยติดต่อสอบถามไปยังที่ปรึกษานายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีต ประธาน ป.ป.ช. แจ้งว่าอยู่ในขั้นตอนการเยียวยา แต่เรื่องเงียบหลายไป กระทั่งกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการเยียวยา หลังจากนั้นผู้บริหาร ป.ป.ช. ก็มีหนังสือสอบถาม ศาลปกครอง และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประเมินผลงาน ทั้งๆที่ไม่มีในคำพิพากษาแต่ประการใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนางนนทยา ยังมีข้าราชการของ ป.ป.ช. ได้แก่ นายประมุข มหานันทโพธิ์ และนายสุริยศักดิ์ กัลยาณมิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน 3 สำนักงาน ป.ป.ช. ยื่นฟ้องศาลปกครอง อันเนื่องจากการออกหลักเกณฑ์และวีธีการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการ ให้ดำรงตำแหน่งระดับที่สูงขึ้น (ระดับ 9 ) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 ต่อมา นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คนปัจจุบัน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่งข้าราชการประจำสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 35 ราย เป็นข้าราชการระดับ 7 ระดับ 8 และระดับ 9 ที่เซ็นโดยเลขาธิการ ป.ป.ช. คนเก่า ในจำนวน ข้าราชการ ป.ป.ช. 35 รายดังกล่าว ปรากฏรายชื่อของ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับ 8 และได้เลื่อนเป็นระดับ 9 ตามคำสั่งดังกล่าว กระทั่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นจึงเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดี และมีสิทธิเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กระทั่งปัจจุบันได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อช่วงปลายปี 2558
อ่านประกอบ:
เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุดมัด! คำสั่ง ป.ป.ช.เลื่อนตำแหน่ง ขรก.มิชอบ
ร้องสอบ เลขาฯป.ป.ช.ละเว้น! ไม่เพิกถอนคำสั่งเลื่อนตำแหน่ง 'วิทยา-35 ขรก.' มิชอบ