มีชัย ชี้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เป็นระบบที่สร้างไว้ยุคไทยแลนด์ยุค 1.0
ร่างพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ Thailand 4.0 หวังเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ป้องกันปัญหาการทุจริต ด้านประธานร่างรธน. ฝากช่วยคิดระบบที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับราษฎรได้อย่างทั่วถึง
วันที่ 22 ก.พ. 2560 คณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ จัดการเสวนาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. .... กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ Thailand 4.0 ณ อาคารรัฐสภา 2
นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แนวคิดที่ว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญออกมาก็มีการตรากฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารในปี พ.ศ. 2540 กฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อหวังให้ประชาชนได้เข้ามารับรู้ข้อมูลข่าวสารทางราชการ
“แต่ระบบที่สร้างไว้นั้น เป็นระบบที่สร้างขึ้นเหมาะสำหรับไทยแลนด์ยุค 1.0 คือใช้ระบบกระดาษ ใช้ระบบยื่นคำขอแล้วคณะกรรมการก็นั่งรอ ใครอยากได้อะไรก็มาขอ”
นายมีชัย กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2540 - 2560 ก็ยังเป็นไทยแลนด์ยุค 1.0 อยู่อย่างนั้น นับว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เริ่มขยับที่จะทำกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหากสังเกตในรัฐธรรมนูญจะพบว่า ได้กำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ของประชาชนเพิ่มมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้ามารับรู้และช่วยมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมือง แต่เดิมทุกคนคิดว่า งานของบ้านเมืองควรจะอยู่ในมือของราชการ มาถึงปัจจุบันพบแล้วว่า การที่ทุกอย่างอยู่ในมือของราชการและข้าราชการ แม้ว่าโดยเจตนารมณ์ราชการจะหวังดีเพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่ประชาชน แต่การกระทำของราชการและข้าราชการนั้นมักจะนำความทุกข์ยากมาสู่ประชาชนอยู่สม่ำเสมอ หลังจากนั้นก็จะกลายเป็นปัญหา
นายมีชัย กล่าวอีกว่า ช่วงหนึ่งเกิดปัญหาระหว่างแนวความคิดที่ว่า ราษฎรเข้ามามีปากมีเสียงด้วยตนเองในการที่บอกให้รัฐรู้ว่า เขาทุกข์ยากอย่างไร กับแนวความคิดอย่างหนึ่งที่ว่าราชการทำงานลำบากขึ้น แล้วหงุดหงิดกับการเดินขบวนเรียกร้องของราษฎร นั่นเป็นเพราะว่า หลายเรื่องราษฎรรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่หมด ของดีๆบางอย่างก็ถูกบิดเบือนไปจนทำให้เกิดความรู้สึกเกรงกลัว นั่นเป็นเพราะราชการไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดให้หรือบอกตามแกน ไม่ได้บอกกันอย่างจริงจังให้เกิดความรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วม ฉะนั้นในส่วนหน้าที่ของรัฐจึงต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครอง เมื่อราษฎรมีสิทธิ รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลให้ราษฎรได้รับรู้
"ความนึกคิดที่กลัวว่าประชาชนเมื่อรู้ข้อมูลแล้วจะทำงานลำบากนั้น เริ่มที่จะล้าสมัย ควรจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดนั้น" นายมีชัย กล่าว และว่า จริงๆถ้าราษฎรรู้ข้อมูลการทำงานของราชการอาจจะง่ายขึ้น แต่ถ้าคิดว่าเป็นข้าราชการ คำสั่งย่อมต้องเด็ดขาด ผู้คนต้องปฏิบัติตาม หากคิดเช่นนั้นแน่นอนการทำงานก็จะยากขึ้น ฉะนั้นวิธีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคิดว่าจะทำให้ราษฎรรู้และติดตามให้ดีและใกล้ชิดที่สุดคือ การกำหนดขั้นตอนในการทำกฎหมาย สิ่งที่ยุ่งยากในทุกวันนี้มากจากกฎหมายเป็นสำคัญ เพราะกฎหมายคือคำสั่ง คำบังคับของผู้มีอำนาจ ใครไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า เรากำลังจะสร้างหน่วยงานใหม่ขึ้นมาตามร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ…. ฝากหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า อย่าเพียรแต่เป็นคณะกรรมการที่คิดไปข้างหน้าอย่างเดียว หาคนที่คิดนอกกรอบด้วย ไม่ใช่อยู่แต่ในกรอบ เพื่อจะได้คิดระบบที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับราษฎรได้อย่างทั่วถึง ทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นและเกิดความสะดวกแก่ราษฎรในการที่จะเข้าสู่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้ เพราะเพียงแต่เปิดข้อมูลข่าวสารแล้ว ราษฎรไม่เข้าถึง และไม่รับรู้ ก็จะไร้ประโยชน์ พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะให้กฎหมายนี้มีบทลงโทษหากหน่วยงานราชการไม่ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ
สำหรับเหตุผลในการร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะนี้ เป็นปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะได้โดยสะดวก และมีประสิทธิภาพ เป็นการลดความเหลี่ยมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ อันเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการรับทราบและตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐซึ่งจะทำให้การป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านการป้องกันและปราบปรามทุจริต และสอดรับกับรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการข้อมูลภาครัฐต่อประชาชนอย่างทั่วถึง และเพื่อให้การปฏิบัติราชการมีธรรมาภิบาล มีการกำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใส รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิทราบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิทธิหรือกำหนดหน้าที่อย่างใดๆแก่ประชาชนอันเป็นการพิทักษ์สิทธิประโยชน์เนื่องด้วยคำสั่งทางปกครอง หรือการกระทำทางปกครองต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการใช้ระบบปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก http://www.radioparliament.net