เขื่อนท่าแซะสะท้อนนโยบายอีหลักอีเหลื่อ นักวิชาการถามใครได้ประโยชน์กันแน่
นักวิชาการโต้กลับ โครงการสร้างเขื่อนท่าแซะ สะท้อนนโยบาย อีหลักอีเหลื่อ ทวงคืนผืนป่าเพื่อทำลาย ด้านชาวบ้านร้อง กสม. หลังแกนนำถูกเชิญเข้าค่ายทหาร นายกฯยันหาก EIA ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้
จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 ชาวบ้านผู้จะได้ผลกระทบโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพรเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบสิทธิชุมชน เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีที่ จ.ชุมพรเตรียมเดินหน้าผลักดันการก่อสร้างโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร รวมทั้งกรณีที่ทางทหารจากมณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ ได้เชิญตัวแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านจำนวน 15 ราย ไปยังค่ายเขตอุดมศักดิ์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมารวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ทหารลงไปหมู่บ้านมีการปิดล้อมไม่ให้ชาวบ้านออกไปยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมาถึงกรณี การก่อสร้างเขื่อนท่าแซะว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมถึงรายงานผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงการดำเนินโครงการ หรือ EHIA ถ้าผลการทำ EIA และ EHIA ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่ก็สามารถดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถดำเนินได้
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากที่กรรมการสิทธิมนุษยชนเคยลงพื้นที่และตรวจสอบเรื่องนี้ ชลประทานจังหวัดชุมพร ยืนยันว่า ชลประทานไม่มีแผนที่จะก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ และไม่อยู่ในยุทธศาสตร์การจัดการย้ำด้วย ต้องฟังนโยบายให้ชาวบ้านสบายใจว่าไม่มี และจำเป็นต้องดำเนินการตามมติครม.15 ม.ค.51 ที่จะพิจารณาการมีส่วนรวมของผู้ได้รับผลกระทบเรื่องนี้โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำท่าตะเภาและมีชาวบ้านผู้ได้รับกระทบเข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ นายหาญณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า โครงการเขื่อนท่าแซะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ มีความจุประมาณ 157 ล้านลูกบาศก์เมตร เคยทำอีไอเอ แต่ไม่ผ่านให้ความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และหากจะย้ายคนจำนวน 400-500 ครอบครัวเหล่านี้จะเอาไปใหน ถ้าต้องการใช้น้ำ มีฝายคุริง มีต้นน้ำจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอยู่แล้ว
“เราควรดูแลต้นน้ำให้มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง เคารพผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานมีการบริหารจักการน้ำตามที่ทรัพยากรจะให้ได้ ไม่เบียดบังผู้น้อย สังคมก็จะปกติสุข”
ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งคำถามต่อโครงการฯดังกล่าวว่า EIA เขื่อนแห่งนี้ทำมาตั้งแต่ปี 2536 และหมดอายุไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วหากคำนวณผลกระทบ เอาแค่สวนยางพารา ขณะนั้นมีราคากิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่วันนี้ 80 บาท เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่นี่ไม่มีการปลูกทุเรียน แต่วันนี้มีการปลูกทุเรียนทั่วพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ราคาทุเรียนกิโลกรัมละ 150 บาท ดังนั้น ความคุ้มทุนของเขื่อน (น้ำที่ได้ไปทำการผลิตทางชลประทานกับผลกระทบ) ก็เปลี่ยนไปแล้ว
"การอยากได้เขื่อนเพราะอยากได้จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะเขื่อนต้องสร้างจากภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินในกระเป๋าของคนอยากได้เขื่อน คำถามก็คือ ก่อนอยากได้เขื่อน มีการศึกษาเพื่อทบทวนความคุ้มค่าของเขื่อนหรือไม่ และมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่"
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวถึงประเด็นที่ผู้ผลักดันต้องตอบให้ได้คือ สันเขื่อนท่าแซะจะสร้างบนรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวระนอง การศึกษาทางธรณีวิทยาทำแล้วหรือไม่ หากทำแล้ว จะเอาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณต้นทุนหรือไม่ และมีการประเมินความเสี่ยงเขื่อนวิบัติจากแผ่นดินไหวหรือไม่ หากยังไม่ทำ หรือทำแบบยังไงก็ได้ หากเกิดเขื่อนพัง ใครจะรับผิดชอบ ประเด็นต่อมา เขื่อนท่าแซะจะทำให้น้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรมหลวงชุมพร ประมาณ 2,400 ไร่ ด้านหนึ่งรัฐได้ทำการทวงคืนผืนป่าจากชาวบ้านที่อยู่มาก่อน แต่อีกด้านหนึ่งกลับจะนำป่าสมบูรณ์ไปสร้างเขื่อน นโยบายที่อีหลักอีเหลื่อนี้คืออะไรกัน
นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า พื้นที่ใต้เขื่อนท่าแซะไม่ได้ต้องการระบบชลประทานเพราะเป็นพื้นที่สวนและเป็นลูกลอน ไม่ใช่ที่ราบ แต่โครงการนี้ก็ยังอ้างว่าเพื่อการชลประทาน คำถามก็คือ เขื่อนแห่งนี้ จะสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานจริงหรือ หรือว่าแท้จริงแล้วจะเอาน้ำไปรองรับอุตสาหกรรมที่จะสร้างในอนาตกันแน่ และการชาวบ้านจะถูกอพยพกว่า 500 ครอบครัว ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนไทยพลัดถิ่น คนเหล่านี้ถูกเรียกร้องให้เสียสละ เพื่อใคร เอาสิทธิอะไรมาเรียกร้องชาวบ้าน แล้วสิทธิของชาวบ้าน มีการเคารพกันบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงว่าชาวบ้านจะถูกอพยพไปที่ไหน
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวถึงการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอย่างเช่น เขื่อน ต้องใช้เงินภาษีประชาชน มีผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ตัดสินใจกันง่ายๆ คือ ใครมีอำนาจก็ชี้นิ้วเอาได้ หรือว่าจำเป็นต้องใช้ความรู้อย่างรอบด้าน รู้หรือไม่ว่า ชาวบ้านมีสิทธิในการตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอาเขื่อนด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะเรียกร้องให้ชาวบ้านเสียสละ เคยตระหนักถึงสิทธิของชาวบ้านหรือไม่
หมายเหตุ: ภาพชาวบ้านท่าแซะ จากเพจสมัชชาคนจน
ภาพดร.ไชยณรงค์ จากhttp://www.jr-rsu.net/