สารพัดปัญหา! สตง.ชง 'บิ๊กตู่'เร่ง รฟท. ส่งมอบพื้นที่โรงงานมักกะสันทำ'ปอด กทม.'
สตง. พบสารพัดปัญหา-ความขัดแย้งคนใน รฟท. ปมให้กรมธนารักษ์เช่าที่โรงงานมักกะสัน 497 ไร่ บริหาร 99 ปี สร้างเป็น 'ปอดคน กทม.' ทำหนังสือถึง 'บิีกตู่' ให้เร่งรัดหน่วยงานส่งมอบพื้นที่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วนมากถึงนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เรื่องการตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านโรงงานมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสั่งการ เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสร้างให้เป็นปอดคนกรุงเทพฯ
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 รับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เสนอตามมติการประชุมครั้งที่ 7/2558 เมื่อ 31 ส.ค. 2558 ซึ่งเห็นชอบกรณี รฟท.ยินยอมให้กรมธนารักษ์ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินของ รฟท.บริเวณย่านโรงงานมักกะสัน เนื้อที่ประมาณ 497 ไร่ เป็นเวลา 99 ปี เพื่อลดภาระหนี้สิน โดยการชำระหนี้คงค้างของ รฟท. ต่อกระทรวงการคลัง จำนวน 61,846 ล้านบาท กำหนดการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ กระทรวงการคลัง ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง รฟท.ได้จัดทำแผนการส่งมอบพื้นที่แบ่งเป็น 3 ส่วน เริ่มการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกจำนวน 105 ไร่ ในเดือน ก.ค.2559 ส่วนที่สองจำนวน 30 ไร่ ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง และส่วนที่สามจำนวน 362 ไร่ ภายในเดือน มี.ค.2561
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้จัดทำแผนการหักชำระหนี้คงค้างของ รฟท. สำหรับการรื้อย้ายอาคารโรงงาน และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายก่อนส่งมอบให้แก่ กระทรวงการคลัง เพื่อให้กรมธนารักษ์เป็นผู้เข้าไปดำเนินการในการพัฒนาที่ดิน เปิดประมูลหาผู้ลงทุนพัฒนาโครงการตามแผนการใช้ที่ดินที่ คนร.กำหนด ซึ่งเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556 โดยคาดว่าจะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 3 องค์ประกอบ คือ ปอดคนกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติ และพื้นที่เชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2559 พบว่า ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ได้ และยังมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของข้อมูลสำคัญบางประการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรภายใน รฟท. ปัญหาการรื้อย้ายโรงงาน และการสร้างใหม่ทดแทนศูนย์ซ่อมมักกะสัน ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าของการดำเนินงานตามโครงการต่อไป อีกทั้ง ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาการจัดทำและรองรับงบการเงินของ รฟท.ที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถรับรองงบการเงินได้ตั้งแต่งวดปีงบฯ 2553 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่มีข้อมูลเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ประกอบการวางแผนการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท.ในระยะต่อไป
สตง.เห็นว่า ปัญหาหนี้สินของ รฟท. มียอดสะสมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ในส่วนที่ รฟท. ต้องรับผิดชอบการชำระหนี้เอง ซึ่งเป็นยอดเงินที่สูงมาก และมีเเนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก และเห็นว่า แนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวของ รฟท.ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คนร. และ ครม. แล้วนั้น จะช่วยให้ รฟท. สามารถปลดภาระหนี้สินบางส่วนได้โดยเร็วขึ้น และเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐ
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าของการดำเนินการ และเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของ คนร. ที่ต้องการช่วยแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการพัฒนาโครงการอื่นใด ควรคำนึงถึงศักยภาพ และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท. ให้เกิดผลโดยเร็ว
สตง.เห็นควรเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป ดังนี้
1.สั่งการ เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดประชุมพิจารณาโดยเร็ว เพื่อกำหนดกรอบแผนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานฯ รวมถึงระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ของ รฟท.ให้มีความชัดเจน และกำหนดระยะเวลาทีสอดคล้องตามความเหมาะสมในทางปฏิบัติ และไม่เกิดความเสียหายในภารกิจของหน่วยงานฯ
2.ติดตาม เร่งรัดให้ รฟท.ต้องจัดทำแผนการรื้อย้ายและส่งมอบพื้นที่โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกิจกรรมการซ่อมบำรุงหลักของ รฟท.
3.ติดตาม เร่งรัดให้ รฟท.ต้องจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรโดยเร็ว ตลอดจนต้องมีการจัดทำแผนให้ชัดเจนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยา หรือแผนรองรับการเคลื่อนย้ายสถานที่ปฏิบัติงานบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และต้องมีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับบุคลากรภายในองค์กรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน หรือเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อแนวทางให้ความช่วยเหลือของ รฟท.ตามความเหมาะสมต่อไป
4.ติดตาม เร่งรัดให้ รฟท. ต้องดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่เป้าหมายที่จะทำการส่งมอบตามโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมธนารักษ์ ในฐานะผู้ทำหน้าที่การบริหารการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่อไป
5.ให้สำนักงานบริหารหนี้สินสาธารณะ พิจารณาจัดทำแผนการหักชำระหนี้สินคงค้างของ รฟท. ให้มีความชัดเจนโดยเร็ว ทั้งระยะเวลา ยอดเงินแต่ละงวด และโครงสร้างหนี้ส่วนที่ทำการตัดยอดหนี้คงค้าง เป็นต้น และมีการประชุมทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ รฟท.เพื่อให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนในแนวทางที่กำหนดและได้รับการยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ ต้องกำชับให้ รฟท.ต้องมีการทำความเข้าใจต่อแนวทางดังกล่าวตามความเหมาะสมให้กับบุคลากรภายในองค์กร เพื่อลดปัญหาขัดข้องใจและข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
6.สังการให้ รฟท.ต้องทำการสำรวจรังวัดที่ดินของ รฟท.โดยเฉพาะที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถ (Non-core) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ให้เกิดความถูกต้องชัดเจน เพื่อนำข้อมูลหลักฐานไปใช้ประกอบ การพิจารณาวางแผนการพัฒนาที่ดินเพื่อช่วยลดปัญหาภาระหนี้สินจำนวนมากของ รฟท.ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)