เดินไป - โทรไป ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด
เทคโนโลยีคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตลอดมาทุกยุคทุกสมัย จนกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในวงจรชีวิตของมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัวนับตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับหรือแม้แต่หลับไปแล้วก็ตาม
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่เทคโนโลยีคือสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน วิวัฒนาการของ เทคโนโลยีเป็นเรื่องราวที่ทฤษฎีของ ชาลส์ ดาร์วิน ไม่สามารถอธิบายได้ หลายต่อหลายกรณีที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีที่ขัดกับธรรมชาติของตัวเอง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้เทคโนโลยีให้เห็นอยู่เสมอ
ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมควรเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เทคโนโลยีเหล่านั้นกลับมาทำร้ายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเองกับมือ แต่ดูเหมือนว่าภัยจากการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและมีเหตุการณ์แปลกๆจากการใช้เทคโนโลยีเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ข่าวการพลัดตกจากบันไดเลื่อนจนเสียชีวิตของประธานบริษัท Taiwan Cement Corp ซึ่งเป็นบริษัทผลิตซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในไทเปเมื่อเดือนมกราคม 2560 นั้น เป็นที่สนใจของสังคมเนื่องจากผู้ตายเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 50 คนของเกาะไต้หวัน รวมทั้งมีภาพนิ่งและคลิปภาพเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงวินาทีที่นาย เลสลี คู ตกลงมาจากบันไดเลื่อนอย่างน่าตกใจและนายคูได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล
ใครจะไปเชื่อว่ามหาเศรษฐีอย่างชาวไต้หวันอย่างนายคูต้องมาจบชีวิตอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ข่าวสังคมออนไลน์บางกระแส รวมทั้งข่าวที่นำเสนอในบ้านเรา อ้างว่าเขามัวแต่มองดูโทรศัพท์ขณะขึ้นบันใดเลื่อน อย่างไรก็ตามมีข่าวรายงานว่ากล้องของโรงแรมไม่มีมุมที่ชัดเจนพอที่จะบอกถึงสาเหตุก่อนที่นายคูจะตกบันไดเลื่อน
หากข่าวที่ระบุว่านายคูมัวแต่ดูโทรศัพท์ขณะขึ้นบันไดเลื่อนเป็นความจริงตามข่าวที่มีการนำเสนอ แสดงให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยี เช่นโทรศัพท์มือถือนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้นอกเหนือจากการถูกปล้นจี้เพื่อชิงทรัพย์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราอยู่บ่อย ๆ เป็นอันตรายที่มิได้เกิดจากโทรศัพท์มือถือโดยตรง แต่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเอง นำมาซึ่งการเสียชีวิตได้อย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น
ปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7,500 ล้านคนประมาณการกันว่าในปี 2017 จะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 4,700 ล้านคนหรือ 63 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกมีโทรศัพท์มือถือใช้และจำนวนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกำลังเติบโตขึ้นทุกนาที เร็วกว่าที่ใคร ๆ จะคาดคิด
จากการศึกษาของบริษัท Dscout ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านการใช้มือถือของมนุษย์ พบว่า ผู้ที่ใช้มือถือมากที่สุดนั้นมีการสัมผัสกับโทรศัพท์ เช่น คลิก แตะ และใช้นิ้วเลื่อนไปมาบนจอ (Swipe) มากถึง 5,427 ครั้งต่อวันซึ่งมีจำนวนราว 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โทรศัพท์ที่ทำการศึกษา แต่โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้โทรศัพท์จะมีพฤติกรรมการสัมผัสโทรศัพท์ราว 2,617 ครั้งต่อวัน เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมากและเป็นพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่เราแทบไม่เคยนับเลยว่าในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้นเราใช้โทรศัพท์มากน้อยเพียงใด
ข้อมูลการศึกษาจากบริษัท Deloitte พบว่า ในแต่ละวันประชาชนอเมริกันเช็คโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากถึง 8,000 ล้านครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนอเมริกันโดยเฉลี่ยเช็คโทรศัพท์มือถือ 46 ครั้งต่อวัน มากกว่าในปี 2014 ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 33 ครั้งต่อวัน
พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือดังกล่าวจะเรียกว่ามนุษย์กำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอยู่เกือบตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่าเรากำลังเสพติดหรือหลงใหลต่อเทคโนโลยีอย่างหนักก็ว่าได้ โทรศัพท์มือถือจึงกลายอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ ที่ต้องติดตัวอยู่แทบจะตลอดเวลา เป็นอวัยวะประดิษฐ์ที่มีการใช้งานมากกว่าอวัยวะธรรมชาติบางอย่างเสียอีก
พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่นนั้นได้มีการศึกษาและรวบรวมเป็นสถิติในแต่ละปีทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลายประเทศจึงต้องมีการออกกฎหมายการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในกรณีต่างๆเอาไว้และบางประเทศได้พยายามผลักดันให้ออกกฎหมายเพิ่มเติมจากกฎหมายการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่เดิม เพราะตระหนักดีว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งผิดที่ผิดทางนั้นก่อให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิต พิการหรือบาดเจ็บมาแล้วนับไม่ถ้วนและหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถือก็คือการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเดินเพื่อพูดคุยหรือส่งข้อความหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในสังคมเมืองทั่วไป
การเดินไปแชทไปหรือโทรศัพท์ไปนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่นแล้วยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้ร่วมทางด้วยและดูเหมือนว่าผู้ใช้โทรศัพท์บางคนไม่ได้มีความรู้สึกเกรงใจผู้อื่นหรือไม่ได้รู้สึกผิดต่อพฤติกรรมของตัวเองที่ได้กระทำลงไป
จากการศึกษาของ มหาวิทยาลัย Western Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2010 ที่ทำการศึกษาพฤติกรรมการเดินของบุคคล 4 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะเดิน ผู้ที่ฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น MP 3 ผู้ที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือใด ๆ ขณะเดิน และ ผู้ที่เดินเป็นคู่ พบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมีการเดินช้าลง เปลี่ยนทิศทางการเดินบ่อยขึ้นและมีโอกาสน้อยที่จะรับรู้ว่ามีบุคคลอื่นอยู่รอบข้างเมื่อเปรียบเทียบกับคนในกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำการศึกษา
การศึกษายังพบต่อไปอีกว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือมีโอกาสน้อยในการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติตลอดเส้นทางการเดิน (เช่นไม่สังเกตว่ามีคนขี่จักรยานแบบล้อเดียวที่ใช้ทดสอบกำลังวิ่งอยู่ในเส้นทางใกล้ๆตัว เป็นต้น) นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ใช้มือถือนั้นอาจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “การมองไม่เห็น ในสิ่งที่ไม่สนใจ” (inattentional blindness) ซึ่งถือว่าเป็นความด้อยความสามารถของบุคคลในบางสถานการณ์และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนเดินปกติที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์
สอดคล้องกับการศึกษา ที่ปรากฏในวารสาร Accident Analysis & Prevention Vol.45 เดือน มีนาคม 2012 ซึ่งพบว่าผู้ทดสอบที่สูญเสียสมาธิจากการใช้โทรศัพท์ส่งข้อความและฟังเพลงขณะเดินมีโอกาสถูกยานพาหนะชนมากกว่าและพบว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์ขณะเดินมักจะละสายตาจากถนนมากกว่าผู้ที่เดินตามปกติ
โดยธรรมชาตินั้น การเดินของมนุษย์ ต้องการทักษะในการรับรู้หลาย ๆ อย่างรวมถึงปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การมีสมาธิ กระบวนการการรับรู้จากการเห็นและการได้ยิน การประมวลผลข้อมูลรอบตัวเอง การตัดสินใจ และการเริ่มต้นการเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจก็คือการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเดินนั้นเป็นการทำให้ทักษะในการรับรู้ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดในการเดินด้อยลงไปทันที จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดคนใช้โทรศัพท์มือถือขณะเดินจึงกีดขวางการเดินของบุคคลอื่น ชนกับบุคคลอื่นหรือสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ไม่รู้ตัวว่ากำลังรบกวนผู้อื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง และที่สำคัญคือเกิดอุบัติเหตุแก่ตัวเองและผู้อื่นอย่างไม่คาดคิด สร้างความสูญเสียทั้ง ชีวิต บาดเจ็บและเศรษฐกิจในแต่ละปีไม่ใช่น้อย เป็นอุบัติเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้ใช้โทรศัพท์ยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ใช้โทรศัพท์ขณะเดิน
แม้ว่าการใช้โทรศัพท์ขณะเดินดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์โดยทั่วไป แต่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้โทรศัพท์ขณะเดินเพราะคนใช้โทรศัพท์ขณะเดินมีมากขึ้นและสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินไปโทรไป แชทไป หรือเล่นเกมไป นั้นกำลังเพิ่มขึ้นจนมีคำศัพท์ใหม่ที่เรียกคนเหล่านี้ว่า “พวกเดินไปพิมพ์ไป” (Pedtextrian)
ในปี 2015 เป็นครั้งแรกที่ สภาความปลอดภัยแห่งชาติ (National Safety Council) แห่งสหรัฐอเมริกา รายงานถึงการบาดเจ็บจาก “การเดินที่ขาดสมาธิ” (Distracted walking) ซึ่งเป็นข้อมูลรายงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและการเดินที่ขาดสมาธินั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเดินขณะใช้โทรศัพท์นั่นเอง
ดังนั้น บางรัฐในสหรัฐอเมริกาจึงมีการเสนอกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ขณะเดินเพิ่มเติมจากการห้ามใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ยานพาหนะ โดยรัฐต่าง ๆ 6 รัฐได้แก่ รัฐอาร์คันซอ รัฐอิลลินอยส์ รัฐเนวาดา รัฐนิวเจอร์ซี รัฐนิวยอร์ค และรัฐฮาวายได้ พยายามผลักดันให้กฎหมายห้ามใช้มือถือขณะเดินตลอดมา แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรและมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยอยู่จำนวนหนึ่ง
โทษของการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการใช้มือถือขณะเดินที่รัฐต่าง ๆ เสนอนั้น นับว่ารุนแรงพอควรสำหรับผู้ที่เห็นว่าการใช้โทรศัพท์ขณะเดินเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ร่างกฎหมายที่เสนอในรัฐนิวเจอร์ซี มีโทษปรับ 50 เหรียญหรือจำคุก 15 วัน หรือทั้งจำทั้งปรับ แก่ผู้ที่ฝ่าฝืน ซึ่งครึ่งหนึ่งของเงินค่าปรับจะนำไปสบทบให้กับกองทุนการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัย ในขณะที่รัฐฮาวายมีการเสนอกฎหมายการห้ามใช้โทรศัพท์ขณะเดินข้ามถนนจากโดยมีอัตราโทษปรับ 250 เหรียญ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าในทุกรัฐที่กล่าวถึงนั้นยังไม่มีรัฐใดผ่านความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว
นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้วในเมืองใหญ่ ๆ ของบางประเทศ เช่น จีน และเบลเยี่ยม ต่างใช้มาตรการอื่น ๆ เช่น จัดเลนพิเศษไว้สำหรับผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะหรือในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีการฝังแถบแสงไฟเขียวและไฟแดง( Lichtlijn หรือ light lines )ไว้ที่พื้นถนนเพื่อเตือนผู้ที่ก้มหน้าก้มตาใช้โทรศัพท์มือถือให้หยุดหรือข้ามถนนหากได้รับสัญญาณไฟแดงหรือไฟเขียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวไม่สามารถจะรับประกันได้เลยว่าอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้นเมื่อใช้โทรศัพท์ขณะเดินเพราะ “การมองไม่เห็นในสิ่งที่ไม่สนใจ” นั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่น่าจะยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆมาแก้ไขข้อจำกัดนี้ได้
นอกจากอันตรายที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือแล้วมารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือก็ควรถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหยิบยกมากล่าวถึง เพราะหลายต่อหลายกรณีนั้นการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นการรบกวนต่อผู้อื่นกรณีใช้งานในที่สาธารณะ เช่นพูดคุยกันเสียงดังขณะอยู่บนขบวนรถไฟฟ้า รถเมล์หรือบนเรือโดยสาร เป็นต้น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งครัดต่อมารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะเป็นอย่างยิ่งและถือปฏิบัติมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรถไฟในเมืองใหญ่ ๆ จะมีป้ายเตือนถึงการห้ามใช้โทรศัพท์เพื่อการพูดคุยหรือมีป้ายเตือนเพื่อให้ปิดเครื่องโทรศัพท์ขณะอยู่บนรถไฟ นอกจากข้อห้ามการใช้โทรศัพท์หรือการส่งเสียงใดๆจากเครื่องโทรศัพท์แล้ว ข้อมูลในปี 2015 พบว่า สถานีรถไฟสาย JR Westในญี่ปุ่น 1,195 สถานี ห้ามใช้ไม้เซลฟีในการถ่ายรูป แต่การใช้ไม้เซลฟียังคงใช้ได้สำหรับรถไฟสายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาย JR West
แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ขณะเดินหรือยังไม่มีวี่แววที่จะมีการนำเสนอกฎหมายดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นภาครัฐหรือผู้กำกับดูแล รวมทั้งบริษัทโทรศัพท์มือถือ ควรสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้โทรศัพท์ เช่น การตักเตือนทางสื่ออยู่เสมอถึงอันตรายของการใช้โทรศัพท์ขณะเดินและควรแนะนำถึงกริยามารยาทในการใช้โทรศัพท์แทนที่จะโหมกระหน่ำกันแต่เรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สังคมตระหนักถึงภัยที่จะเกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์ขณะเดินซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือบาดเจ็บได้อย่างไม่คาดคิด รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
ตัวอย่างเหตุการณ์จาก youtube.com
|
|
|
|
|
|
ขอบคุณภาพประกอบจาก : mashable.com