ผลวิจัยชี้ “กองทุนสุขภาพชุมชน” ยังล้มลุกคลุกคลาน - อปท.ใช้งบผิดทาง
นักวิชาการ ม.มหาสารคาม ชี้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกองทุนสุขภาพชุมชนมากขึ้น แต่ อปท.ส่วนใหญ่ใช้งบผิดทาง สปสช.เขต 7 ร่วม ม.มหาสารคาม อบรม อบต./เทศบาล พัฒนาศักยภาพผู้นำกองทุน
ผศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่า จากการวิจัยการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพชุมชน) พบว่าท้องถิ่นยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเฉพาะการใช้งบประมาณจากการลงขันของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และท้องถิ่นที่สมทบในสัดส่วนที่กำหนด ดังนั้นเมื่อได้รับงบประมาณจะต้องดำเนินงานตามที่ สปสช.ได้ตั้งเกณฑ์เอาไว้ แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ท้องถิ่นไม่มีแผนทั้งในส่วนของข้อมูลสุขภาพ และยุทธศาสตร์การทำงาน ทำให้บางท้องถิ่นไม่สามารถทำตามเกณฑ์ที่กำหนดได้
ผศ.ดร.วรพจน์ กล่าวว่า แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เป็นการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดความหลากหลายของโครงการ แต่บางท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำยุทธศาสตร์ได้ จึงใช้งบประมาณไม่ตรงจุด ส่วนตัวเห็นว่าควรจะให้คนในชุมชนเป็นผู้ใช้งบประมาณมากกว่าหน่วยบริการที่อาจจะซ้ำซ้อนกับภาระงานปกติ อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันพบว่าแนวโน้มที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีความหลากหลายของโครงการมีมากขึ้น
ทั้งนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มมส. ร่วมกับ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น จัดทำหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหาร อบต./เทศบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำกองทุน ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่และรับรู้เข้าใจระเบียบการดำเนินงานกองทุน รวมทั้งทำให้เกิดกองทุนต้นแบบเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด โดยจัดอบรม 2 รุ่น รุ่นละ 40 คน เดือน มี.ค.นี้
ด้านนายวิชัย กว้างสวาสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เทศบาลตำบลกุดสิม ได้เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพชุมชน ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคในการการบริหารจัดการงบประมาณบ้าง แต่การเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเติมช่องว่างการสร้างเสริมสุขภาพที่ภาครัฐและท้องถิ่นยังเข้าไปไม่ถึง ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างแผนการบริหารจัดการกองทุน
“อบต.และเทศบาลที่ได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ต้องทำโครงการที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนก่อน อย่ามาแบ่งเค้กกันเอาเงินไปทำเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือซ้ำซ้อนกับงานเดิมที่ทำอยู่แล้ว” นายวิชัยกล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/10842