รศ.รุจน์ หวั่นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ผ่าน ทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น
จักร์กฤษ เพิ่มพูล ชี้พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ นำไปใช้จริงไม่ได้ ด้านปธ.สภาการฯ ยันรัฐบาลไหนคุมสื่อ เป็นสัญญาณรัฐบาลนั้นใกล้จะไปแล้ว ด้านอ.มธ. ชี้กม.นี้กระทบการทำงานสื่อในอนาคต ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงให้กับประชาชน
วันที่ 18 ก.พ. คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ "ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ : คุ้มครอง หรือคุกคาม เสรีภาพสื่อไทย" ณ ห้อง JM 402 ชั้น4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอยากให้มีมาตรการในการจัดการดูแลสื่อให้มีประสิทธิภาพ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็มีการเสนอร่างฯ ซึ่งได้มีการกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จนองค์กรสื่อมวลชนต้องออกมาคัดค้านและชี้ให้เห็นถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตรา 34 ที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และมาตรา 35 ที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน หากร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประเทศ
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่ลาออกจากคณะกรรมาธิการปฎิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน โดยสปท. เอาเรื่องนี้มาทบทวนเกี่ยวกับประเด็นข้อโต้แย้ง เรื่องของตัวแทนรัฐ ใบอนุญาต ซึ่งโครงสร้างที่มีอยู่ก็ยังยืนยันตามเดิมคือ ตัวแทนรัฐที่เป็นปลัดกระทรวง 4 กระทรวง เปลี่ยนเป็นตัวแทนองค์กรอิสระ ซึ่งก็เป็นตัวแทนรัฐแต่แค่เปลี่ยนตัวเท่านั้น เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนสำนักงานคุ้มครองบริโภค ส่วนเรื่องใบอนุญาตจะเป็นการให้ใบอนุญาตแบบสมัครใจ ซึ่งจะมีวิธีการหาเหตุผลจูงใจให้สื่อยอมรับใบอนุญาตอย่างไรนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด
"กฎหมายฉบับนี้ออกไปเชื่อว่า ไม่สามารถบังคับและปฏิบัติได้ เพราะนิยามความเป็นสื่อมวลชนที่ผู้ร่างได้บอกนั้น ก็รวมไปเฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องมีการจดทะเบียนให้หมดใน 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ในแง่การปฏิบัติ จึงมองอนาคตว่า สุดท้ายถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป พวกเราก็ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะร่างกฎหมายไปขัดแย้งรัฐธรรมนูญในมาตรา 34 -35 ส่วนทางปฏิบัติจะให้คนที่มีเฟซบุ๊คมีใบอนุญาตก็ไม่มีทางเป็นไปได้"
ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงการกำกับดูแลสื่อมี 3 ระดับ คือ 1.โดยรัฐ 2.กำกับดูร่วมระหว่างรัฐกับสื่อ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล 3.การดูแลกันเอง ไม่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ใช้ระบบดูแลกันเองเป็นหลัก เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เพราะต้องมีการลงทุนเองโดยรัฐไม่เกี่ยวข้อง
นายชวรงค์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยตามร่างฯเดิมนั้นมีการให้อำนาจ กสทช. ที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้องค์วิชาชีพดูแลกันเองก่อน หากจัดการแก้ไขไม่ได้ อาจให้อำนาจ กสทช.เข้ามาแทรกเเซง ส่วนประเทศที่รัฐควบคุมก็มาจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ อาทิ สปป.ลาว บรูไน ก็จะมีการกำกับดูแลโดยรัฐเข้มงวด แต่ระบบดูแลกันเองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศฝั่งยุโรป ขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีระบบสังคมเข้มแข็ง เหมือนสังคมคอยกำกับดูแลสื่อไปด้วย
"ถ้ามีกฎหมายแบบนี้เข้ามาก็ทำให้มัดมือมัดเท้ามากขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้จะมีประชุมว่า มาตรการจากองค์กรสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะถ้าปล่อยกฎหมายนี้ไปสังคมเสียประโยชน์ และเท่ากับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชน ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนคุมสื่อเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลนั้นใกล้จะไปแล้ว”
ด้านรศ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากพิจารณาหลังจากมีรัฐบาล คสช. ขึ้นมามีแต่ข่าวร้ายเกี่ยวกับสื่อ และดูเหมือนจะเอาจริง ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายนั้นก็คือต้องการเข้ามาควบคุม และหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ การออกพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่เข้ามาควบคุมสื่อออนไลน์ ถัดมาใช้กฎหมายมาตรา 44 ยึดเครื่องวิทยุทั้งหมด และ ถ้าหากร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ผ่าน ก็จะเข้ามาควบคุมหนังสือพิมพ์ ซึ่งรัฐก็จะมีอำนาจในการควบคุมสื่อทั้งหมด
"กระทบต่อสื่อในอนาคต โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงให้กับประชาชน เชื่อว่า จะมีการทุจริตมากขึ้น เนื่องจากว่าสื่อไม่สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ และสุดท้ายคนก็จะลุกขึ้นมาประท้วงบนถนนกับไปสู่วงจรเดิมนำมาซึ่งการปฎิวัติซ้ำๆ "