องคมนตรีชูศก.พอเพียงสู้วิกฤตโลก “เดชา”จี้รัฐเก็บภาษีห้ามปุ๋ยเคมีโฆษณาสื่อ
“นพ.เกษม”ชูเศรษฐกิจพอเพียงสู้วิกฤติโลก แนะคนเมืองปลูกต้นไม้ ชุมชนปลูกป่าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะที่“ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ”จี้รัฐห้ามสื่อโฆษณาปุ๋ยเคมี ตั้งกองทุนเกษตรอินทรีย์ช่วยเกษตรกรไทย
เมื่อเร็วๆนี้ ในงานประชุมเชิงวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์สู่สังคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลิกฟื้นวิกฤติด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” ว่าผลกระทบวิกฤติประเทศไทยต้องมองวิกฤติโลก เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆมาหลายครั้ง และกำลังประสบปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่ไม่ใช่สาเหตุมาจากธรรมชาติแต่มาจากฝีมือมนุษย์ ถ้าไม่มีการแก้ไขแต่วันนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษยชาติ แผ่นดินพืชและสัตว์จะปรับตัวให้อยู่รอด ในอนาคตลูกหลานจะอยู่ลำบากมากขึ้น
นพ.เกษม กล่าวต่อว่าในช่วง 100 ปีประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านคน ภาคเกษตรกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะพื้นที่เพาะปลูกไม่สามารถจะเพิ่มได้อีกปัจจุบันมีคนอดอาหาร 800-1,000 ล้านคน แม้แต่ในเมืองหลวงของไทยก็มีผู้อดอาหาร สินค้า อาหารราคาแพงมากขึ้น พลังงานฟอสซิลกำลังจะหมดและแพงขึ้นเรื่อยๆ เรื่องมลภาวะก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้คนเป็นโรคทำให้คนตายเร็ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงพระราชทานแนวทางนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.42 เพื่อให้ประเทศไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งนำไปใช้ได้กับทั้งปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ หลักการคือในทุกภาวะต้องสร้างความมั่นคงด้านวัตถุ เศรษฐกิจทรัพยากรที่เรียกว่าภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับความเข้มแข็งทางสังคม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนจะวางแผนรับมืออย่างไร
“ชุมชนจะนำปรัชญานี้มาใช้ให้ประเมินว่ามีความเข้มแข็งหรือความยั่งยืนหรือเปล่า ต้องมีความรู้ในการวางแผน ทำทุกอย่างบนพื้นฐานความรู้ ต้องขัดเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม การดำเนินชีวิตต้องขยัน ต้องใช้สติปัญญา ทุกอย่างต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความพอเพียง ยึดทางสายกลางความพอประมาณ ทำอะไรต้องมีคำอธิบายได้ และจะต้องไม่กระทบกับความมั่นคงทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ถ้าทำได้ตามนี้จะพัฒนาไปสู่ความสุข ความยั่งยืนในชุมชน ซึ่งคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน” นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าว
ด้าน เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เกษตรกรรมอินทรีย์ในประเทศไทย ว่าสถานการณ์เกษตรกรรมในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง ข้าวที่ปลูกในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหากับชาวนา การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นปัญหาที่ถูกปลูกฝัง ถูกส่งเสริมมาแบบผิดๆตั้งแต่ในอดีต มูลนิธิฯส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวที่ถูกวิธี โดยให้ต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง ไม่เป็นโรคแมลง ใช้แรงงานน้อยและขายได้ราคาดี ซึ่งก็มีการพัฒนาชาวนาไปด้วย มีชาวนาได้รับรางวัลจากการทำเกษตรแบบนี้ 2 ราย อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯก็ประสบปัญหา เพราะขยายผลการผลิตแบบนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆหรือชาวนารายอื่นไม่ได้ ซึ่งทางออกได้มีการเสนอให้รัฐจัดเก็บภาษีปุ๋ยเคมีและห้ามโฆษณาทางสื่อต่างๆ เหมือนที่เคยทำได้กับบุหรี่ แม้จะห้ามไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะทำให้ลดลงได้
“พฤติกรรมชาวนาถูกครอบงำจากการโฆษณาทางสื่อให้คนทำตามโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งมองว่าถ้าจะแก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีในการเกษตร ภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริม โดยตั้งเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพราะการใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการใช้ที่ไม่จำเป็นและมีโทษ ถ้าภาครัฐควบคุมโฆษณาได้เหมือนบุหรี่ปัญหาก็จะหมดไปและสิ่งที่เราทำก็จะขยายตัวได้ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสังคมมากมาย ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าทำ เพราะไม่ได้ใช้เงินสักบาทแต่อยู่ที่นโยบาย”
ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลลงไปในภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคา หรือการจำนำข้าว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดไม่ได้ผล แต่การตั้งกองทุน การห้ามโฆษณาสารเคมี ปุ๋ยเคมีและเก็บภาษีนำเงินส่วนนี้มาใช้ส่งเสริมเกษตรกร โดยจะประกาศเป็นพระราชกำหนดหรือกฎกระทรวงจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่า
“ไม่ใช่แค่คิดโครงการใหม่หรือคิดโครงการเยอะแยะใช้เงินมากกมาย ซึ่งหลายโครงการก็พิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาภาคเกษตรไม่ได้ผล ภาคเกษตรกรรมยั่งยืนต้องการความจริงใจจากภาครัฐ ให้รัฐเอาของจริงเป็นตัวตั้ง และต้องฟังผู้รู้ให้มากขึ้น จากนั้นนำมาปฏิบัติก็จะแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้นั่นเอง” เดชา ศิริภัทร กล่าวว่า