ไม่ใช่แค่ไล่ออก! ป.ป.ช.ฟันอาญา‘อดีตอธิการฯม.อุบล’ด้วย คดีทอดกฐิน-ให้ทุนมิชอบ
ไม่ใช่แค่ไล่ออกจากราชการ! ป.ป.ช. ฟันอาญา ‘ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ’ อดีตอธิการบดี ม.อุบลฯ ด้วย ปมอนุมัติเงินสำรองหมุนเวียนใช้ทอดกฐิน-ให้ทุน อนุมัติเงินให้กู้ยืมสวัสดิการโดยไม่จัดสรรตามงบรายจ่ายประจำปี โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต
จากกรณีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงนามคำสั่งไล่ออก ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกจากราชการ กรณีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบ ซึ่งสืบเนื่องจากมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงแก่ ศ.ประกอบ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2534 และใช้จ่ายเงินรายได้ที่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2533
(อ่านประกอบ : สกอ.ไล่ออก'อดีตอธิการฯม.อุบล'ย้อนหลังปี53-ป.ป.ช.ชี้มูลคดีทอดกฐิน-ให้ทุนมิชอบ)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า นอกเหนือจากการชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว ศ.ประกอบ ยังถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ด้วย และได้ส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องต่อศาลต่อไป
ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ส่วนมาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งไล่ออกจากราชการดังกล่าว ระบุว่า เป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 815-89/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย.2559 มีมติชี้มูลทางวินัยร้ายแรงแก่ ศาสตรจารย์ประกอบ วิโรจนกุฏ ว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2534 และใช้จ่ายเงินรายได้ที่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2533 ดังนี้
1. อนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษาประจำปี 2549 2.การให้ทุนแก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษา ครั้งที่ 1 และ 3. โครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 2
2. อนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 165 ราย โดยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่ได้จัดสรรรายได้ตั้งเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อนุมัติงบประมาณสำหรับการให้กู้ยืม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคสามและวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
อาศัยอำนาจตามมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกอบมาตรา 30 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จึงลงโทษไล่ออกศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2553 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หาก ศ.ประกอบ วิโรจนกุฏ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ (ก.อ.ร.) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้
ขณะที่ ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้รับทราบคำสั่งไล่ออก ศ.ประกอบ จาก สกอ. แล้ว หลังจากนี้จะแจ้งกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยฯรับทราบต่อไป รวมถึงแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอนทั้งเรื่องบำเน็จบำนาญ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ทั้งนี้ต้องรอให้คดีความถึงที่สุดก่อน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ศ.ประกอบ จาก astvmanager