ประชุมกพช. ไฟเขียวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ภาคปชช.ปักหลักค้างทำเนียบ
ที่ประชุมกพช.มีมติอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่จังหวัดกระบี่ ตามขั้นตอนกฎหมาย ขณะที่เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ปักหลักค้านหน้าทำเนียบ ยันจะอยู่จนกว่านายกฯ สั่งเลิกโครงการ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เวลา 09:30 น.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังการประชุม นายรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมกพช.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่จังหวัดกระบี่ ตามขั้นตอนกฎหมาย โดยสรุปที่เคยชะลอไว้ก็ให้ดำเนินต่อไปตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ. กระบี่ 800 เมกะวัตต์ โดยพิจารณาแล้วว่าชุมชนให้การยอมรับ และปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนแล้ว เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้ระบบ Ultra Super Critical (USC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงและมีมาตรฐานระดับโลก ทั้งนี้ จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ให้เสร็จก่อน และคาดว่าจะเริ่มต่อสร้างได้ประมาณปี 2561 และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างช้าสุดประมาณปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565
ขณะที่บรรยากาศทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ปักหลักชุมชน พร้อมยืนยันไม่กลับจนกว่ารัฐบาลจะสั่งยุติโครงการก่อสร้าง
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โพสต์ข้อความ ถึงการตัดสินใจลุยถ่านหินของ กพช. คือการเดินละเมอไปสู่เส้นทางอันตรายของพลังงานสกปรก ทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยและระบบนิเวศที่ค้ำจุนสนับสนุนชีวิตไว้เบื้องหลัง
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการที่ นายกฯ ได้แถลงว่าที่ประชุม กพช.มีมติให้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้่าถ่านหิน ทุกอย่างดำเนินการตามกฏหมายศึกษารอบด้าน มีความปลอดภัย อย่าสร้างความขัดแย้งอีก เห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนของกฏหมาย มีการศึกษารอบด้าน และมีความปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ของ สผ.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่นายกฯ เอง เป็นประธาน ขณะที่ EHIA ก็ถูกโต้แย้งจากประชาชนว่าเป็นโมฆะเนื่องจากการศึกษาไม่รอบด้าน และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ไม่มีความชอบธรรม
"ในขณะนี้จึงไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆ ของภาครัฐว่า ดำเนินตามกฎหมายและแสดงให้เห็นว่าโครงการมีการศึกษารอบด้าน และมีความปลอดภัย"ดร.ไชยณรงค์ กล่าว และแสดงความไม่เห็นว่าการลุกขึ้นมาประท้วงคัดค้านเป็นการสร้างความแตกแยก แต่เห็นว่าการคัดค้านโครงการเป็นสิทธิของประชาชนที่จะปกป้องสิทธิชุมชนและวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิที่เป็นสากล การกล่าวหาผู้ที่ไม่เป็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการสร้างความแตกแยก จึงเท่ากับเป็นการปิดปากประชาชนไม่ให้แสดงความเห็นหรือกระทำการเพื่อปกป้องสิทธิของตน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา และที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยนัดรวมตัวคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของพื้นที่ภาคใต้ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังนั้น เป้าหมายของการทำให้คนมีไฟฟ้าใช้จึงอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
“ปี 2556 เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ใน 14 จว.ภาคใต้เกือบ 3 ชม. และความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันไม่มีโรงไฟฟ้าเป็นของตนเอง แต่ต้องพึ่งไฟฟ้าที่ส่งไปจากภาคกลาง และ หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็จะเกิดความเสี่ยงเรื่องพลังงาน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป”
พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า หากผู้คัดค้านยอมรับว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศและคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด แต่ยังไม่เห็นข้อเสนอที่ชัดเจนว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร มีแต่เพียงออกมาคัดค้าน
ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จนได้ข้อสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเหมาะสมมากที่สุดในแง่ของการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ปาล์มน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติเหลว พร้อมทั้งได้ดำเนินการตามหลักวิชาการทั้งการศึกษาคุณภาพอากาศในรัศมีมากกว่า 5 กม.จากจุดสร้างโรงไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กม. ยาว 30 กม. หรือคิดเป็นพื้นที่ 900 ตร.กม. รวมถึงศึกษาข้อมูลด้านทะเลและชายฝั่ง การใช้น้ำและระบายน้ำอย่างละเอียดในรัศมีมากกว่า 5 กม.และพื้นที่บางส่วนของ จ.ปัตตานีด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และวิถีชุมชนตามที่กล่าวอ้าง
นอกจากนี้ กฟผ.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายพื้นที่ และไม่เคยปิดกั้นพี่น้องประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งยังใช้สื่อประชาสัมพันธ์ เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนเป็นรายกลุ่มและรายครัวเรือน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
“รัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น โดยยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านแล้ว ท่านก็ควรรับฟังรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน”