ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ดร.ประภัสสร์ ชี้มหาอำนาจโลกเปลี่ยนขั้ว- ไทยถูกบีบให้เลือกข้าง
ผอ.อาเซียนศึกษาเผยถ้าสหรัฐปิดประเทศจีน,รัสเซียจะมีอำนาจมากขึ้น ไทยจะโดนบีบให้เลือกข้าง ที่ปรึกษากรรมการหอการค้าไทยชี้มาตรการเพิ่มภาษีของทรัมป์ไม่สามารถทำได้ แนะไทยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นักวิชาการอิสระแนะไทยรักษาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐเพื่อถ่วงดุล
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมอเมริกาศึกษาในปนะเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง "ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุค Donald Trump" ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี นายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ในอนาคตว่า จุดอ่อนของประเทศไทยในตอนนี้คือเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในช่วงเวลา 10 กว่าปี ทำให้ไทยสูญเสียบทบาทในการเป็นผู้นำในอาเซียนและสูญเสียการเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ถ้าทรัมป์ ทำอย่างที่พูดในเรื่องของนโยบายการต่อต้านการก่อการร้าย โดยห้ามชาวมุลสลิมเข้าประเทศและใช้กำลังทหารตามล่ากลุ่ม ISIS อาจจะเป็นการทำให้ปัญหาลุกลามมากขี้น ส่วนนโยบายการค้า คือการต่อต้าน FTA และมองว่า NAFTA เป็นหายนะ จะทำให้คนอเมริกันตกงาน โดยจะมีการเจรจา NAFTA ใหม่หรือยกเลิกก็ยังไม่รู้ ขณะเดียวกันมีการต่อต้าน TPP อย่างเต็มตัว ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ส่วนนโยบายของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเอเชียและไทย นั้น ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. กล่าวว่า ก็ยังไม่ชัดเจน พร้อมกับมองว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่มีเวทีแนวพหุภาคีเท่าไหร่ และดูท่าทีโดนัลด์ ทรัมป์เองก็ไม่ค่อยจะชอบยูเอ็น รวมถึงนาโต้ด้วย ส่วนตัวจึงเดาว่า ทรัมป์น่าจะไม่ชอบประเทศแถบอาเซียน ฉะนั้นรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์อาจมองว่าการร่วมมือแบบทวิภาคีจะทำให้สหรัฐฯได้เปรียบมากกว่า หากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อไทยทางตรง คือ ไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงและการลงทุนจากสหรัฐฯ มาไทยก็จะลดลงตามไปด้วย โดยพันธมิตรทางทหารไทยและสหรัฐฯ จะลดความสำคัญลง รวมไปถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตยก็จะลดความสำคัญลง
“ส่วนผลกระทบทางอ้อมหากสหรัฐฯ ปิดประเทศ และต่อต้านโลกาภิวัฒน์ จะส่งผลกระทบต่อโลกและต่อไทย โดยมหาอำนาจในโลกจะเปลี่ยนขั้วจากสหรัฐฯ ที่เสื่อมอำนาจลง ส่วนจีน และรัสเซียจะมีบทบาทมากขึ้น โดยไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพราะไทยจะถูกบีบให้เลือกข้างมากขึ้น จากข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ โดยแนะนำว่าต้องยื่นข้อเสนอนโยบายไทยต่อสหรัฐฯ ให้เพิ่มบทบาทในเวทีอาเซียนเพื่อถ่วงดุลจีนและพร้อมผลักดันการเจรจา FTA อาเซียนกับสหรัฐฯ”
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึษาคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่โดนัลด์ ทรัมป์หาเสียงชนะเพราะมีการหาเสียงเรื่องการค้าที่เสียเปรียบ กฎระเบียบที่เสียเปรียบ และเรื่องพลังงานที่แพงเกินไป โดยสหรัฐฯ เสียดุลการค้ามากคือการสั่งซื้อมากแต่ส่งออกน้อย และปัญหาการผลิตสินค้า ตอนนี้โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมองถึงการเปลี่ยนสหรัฐฯให้เป็นผู้ผลิต โดยต้องรอดูฝีมืออีกทีว่าจะทำได้หรือไม่
"ปัจจุบันโดนัลด์ ทรัมป์ มีการขึ้นภาษีกับจีน 35 % ซึ่งเป็นไปไม่ได้ มาตรการภาษีไม่มีทางเกิดขึ้น เชื่อว่า ไม่มีทางขึ้นภาษีทางการค้าได้แน่นอนเพราะมีแต่จะกระทบประเทศตัวเอง"
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับไทยต้องสร้างพลังงานความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น โดยใช้มาตรการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) และสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งเป็นมาตรการเดิมๆแต่จะต้องนำมาใช้อย่างเข้มข้น โดยจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยได้พัฒนาสินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อเข้าไปสู่การค้ากับสหรัฐฯ
ส่วนรศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า สิ่งที่กระทบกับไทยในรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ คือการที่สหรัฐฯใช้มาตรการบีบบังคับในด้านเศรษฐกิจของจีน อาจทำให้เศรษฐกิจจีนแย่งลง และการส่งออกของประเทศไทยรวมถึงการท่องเที่ยวลดลงไปบ้าง ส่วนด้านการค้ากับรัฐบาล ทรัมป์อาจจะไม่ได้สนใจประเทศไทยเลย ส่วนในด้านการค้าระหว่างประเทศไทยจะสนิทกับประเทศจีนเป็นมากเป็นพิเศษ เหตุผลเพราะเรื่องเขตการค้าเสรี จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯนั้นลดลง โดยไทยจะต้องรักษาความใกล้ชิดจากประเทศจีนและให้สหรัฐฯเพื่อเป็นการถ่วงดุลกัน ถึงจะทำให้เอเชียแปซิฟิกไม่ได้รับผลกระทบหรือมีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลของทรัมป์มากนัก
รศ.ดร.สมชาย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้ยุคของทรัมป์ ก็คงจะกดดันไทยเรื่องการเลือกตั้งและการเคารพสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิม แต่อาจจะลดน้อยลง เนื่องจากแนวนโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่อเมริกาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า เพียงแต่ความถี่ในด้านวาทกรรมในส่วนของการพูดเรื่องการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในสมัย ทรัมป์จะลดลง เพราะบุคคลิกภาพและค่านิยมของทรัมป์ไม่ได้เน้นในเรื่องนี้
"ทรัมป์คงได้เห็นตัวอย่างจากโอบาม่า ที่เน้นเรื่องดังกล่าว จนส่งผลให้ประเทศในอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ทิ้งระยะห่างความสัมพันธ์กับอเมริกามากขึ้น และหันไปใกล้ชิดกับ จีนและรัสเซียแทน"